มพบ. จัดเวทีวิชาการ “บทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม”

IMG 1619

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสามองค์กรร่วมจัดเวทีวิชาการ “บทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หวังยกระดับมาตรฐานการดำเนินคดีแบบกลุ่มในประเทศไทย

          เมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน 2562) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีวิชาการ เรื่อง “บทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปบทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายร่วมกับทนายความ นักกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินคดีแบบกลุ่มในประเทศไทยให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ

IMG 1525

          โดยในช่วงเช้า คุณอรุณี เอี่ยมศิริโชค นักวิจัยอิสระ ได้นำเสนอ “บทเรียนการฟ้องคดีแบบกลุ่มในประเทศไทย” โดย ซึ่งมีทั้งหมด 9 ข้อด้วยกัน คือ 1. แกนนำกลุ่มต้องมีความเข้มแข็งและเสียสละ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับผู้ประกอบการ 2. ทนายความต้องเข้าใจลักษณะของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายทุกคนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่จำกัดเฉพาะกับสมาชิกกลุ่ม3. คดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน แม้จะได้รับความเสียหายไม่เท่ากัน ก็สามารถยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มได้

          4. ความคุ้มค่าในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม อยู่ที่การทำให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวนมากๆ เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคอีก นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายด้วย 5. ควรมีการสร้างบรรทัดฐานเรื่องเงินรางวัลทนาย 6. สมาชิกกลุ่มควรมีข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตั้งแต่ก่อนการดำเนินคดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแบ่งสรรปันส่วนกันในภายหลัง 7. ระยะเวลาในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในชั้นไต่สวนคำร้องรับพิจารณาคดีแบบกลุ่มไม่ควรจะเกิน 1 ปี 8. หน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และ 9. หน่วยงานรัฐและกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานเชิงรุกและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

IMG 1506

          นอกจากนี้ ยังมีช่วง “สรุปบทเรียนปัญหาการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความผู้รับผิดชอบคดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความผู้รับผิดชอบคดีเครื่องสำอางเพิร์ลลี่ และนายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้รับผิดชอบคดีรถยนต์ฟอร์ด ซึ่งเป็นแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความสำเร็จในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในมุมมองของทนายผู้รับผิดชอบคดี

          ส่วนช่วงบ่ายเป็นการบรรยายเรื่อง “กรณีศึกษาการดำเนินคดีแบบกลุ่มในต่างประเทศ” โดยนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างคดีและวิธีพิจารณาคดีแบบกลุ่มของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เปรียบเทียบข้อแตกต่าง จุดเด่น จุดด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มในประเทศไทยต่อไป

          และช่วงสุดท้ายเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเรื่อง “บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนหลักถึง 7 คน ได้แก่ นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม นายวชิร พฤกษ์ไพบูลย์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวณัฐชไม กิตติโรจนาธรรม ตัวแทนผู้เสียหายคดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง นางสาวเพชราภรณ์ คงกลั่น ตัวแทนผู้เสียหายคดีเครื่องสำอางเพิร์ลลี่ และนางสาวคุณฌนิฏา สุขขวัญ ตัวแทนผู้เสียหายคดีรถยนต์ฟอร์ด ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นในครั้งนี้ มีทั้งผู้พิพากษา ทนายความ นักกฎหมาย รวมถึงตัวแทนผู้เสียหายจากคดีต่างๆ ที่ยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม จึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้ไปอย่างรอบด้าน

 

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ ที่นี่

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เพิร์ลลี่, กระทะโคเรียคิง, คดีกลุ่ม

พิมพ์ อีเมล