มพบ. จัดเสวนา “ทิศทางการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค” แนะหน่วยงานและองค์กรผู้บริโภค เตรียมพร้อมสำหรับการจัดตั้งสภาองค์กรฯ

wrcd19 laws news pic 190314 0007

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ 3 องค์กร และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค จัดเวทีเสวนา “ทิศทางการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค” เสนอแนะหน่วยงานและองค์กรผู้บริโภค เตรียมพร้อมสำหรับการจัดตั้งสภาองค์กรฯ

 

          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 7 ภาค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส้รางเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล (Better Digital World with Trusted Smart Products)” ในวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2562

          โดยช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคม 2562 มีเวทีเสวนา “ทิศทางการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค: พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”

wrcd19 laws news pic 190314 0006

 

          นายถนัดกิจ นิวาทวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายยุติธรรมทางแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงที่มาและสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมี พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่บางองค์กรไม่มีเงินทุน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงถูกเขียนขึ้น เพื่อให้เกิดการรวมตัว ทั้งยังมีการกำหนดเรื่องเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างพลังให้กับองค์กรผู้บริโภค

          “ที่มุ่งเน้นไปที่วิธีการจัดตั้งสภาองค์กรฯ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับข้อความตอนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 ที่ระบุว่า หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ ก็อ้างอิงจากต้องความดังกล่าวของมาตรา 46 และเพิ่มเติมเรื่องความเป็นอิสระของสภาองค์กรฯ เข้าไปด้วย” นายถนัดกิจกล่าว

          ส่วนความกังวลของผู้บริโภคที่อยากให้มีสภาองค์กรฯ เพียงสภาเดียวนั้น นายถนัดกิจ ระบุว่า ในทางทฤษฎีมีโอกาสเกิดสภาที่สองขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นเกิดได้ลำบาก เนื่องจากจำนวนผู้ก่อการจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจะรวมตัวให้เกินครึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคทั้งหมดก็จะทำได้ยาก

wrcd19 laws news pic 190314 0005

          นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฎหมายอยู่ในขั้นตอนที่รอให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองเพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งสิ่งที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและ สคบ.ต้องดำเนินการ ก่อนกฎหมายจะใช้บังคับ มี 2 ส่วน คือ 1. จัดทำแบบการจัดตั้งสภาองค์กรฯ เช่น วิธีการจดแจ้ง แบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล เอกสาร รวมถึงประกาศต่างๆ เพราะถ้าไม่มีแบบการจัดตั้ง ก็จะไม่สามารถเริ่มขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้ และ 2. ดำเนินการเรื่องเงินอุดหนุน เพราะหลังจากมีการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค และรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรฯ แล้ว จะมีการให้เงินอุดหนุนไปยังสภาองค์กรฯ ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 2 ส่วนนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะของแต่ละเรื่อง และ จะเชิญภาคประชาชนเข้าไปประชุมด้วย

          นายพิฆเนศ แสดงความเห็นว่า การจดแจ้งสภาองค์กร ควรต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวก เพราะถ้าใช้การยื่นเอกสารในรูปแบบเดิมๆ อาจจะยากเรื่องการนับจำนวนองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ เพื่อจัดตั้งสภาองค์กรฯ ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการเหล่านี้น่าจะเสร็จสิ้นทันกฎหมายประกาศใช้

wrcd19 laws news pic 190314 0003

          รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานสนับสนุนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติระดับโลก เสนอความคาดหวังต่อทิศทางการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 5 ข้อ 5 ซึ่งแบ่งเป็น 3t และ 2g คือ

1. To the Law คือ การจัดตั้งสภาองค์กรฯ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

2. Transparent คือ กระบวนการในการจัดตั้ง คัดกรองต่างๆ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

3. Timely คือ เริ่มขับเคลื่อนการสภาองค์กรฯ ตั้งแต่การจัดตั้ง หาสมาชิกต่างๆ ต้องตรงตามกำหนดเวลา ไม่ชักช้า

4. Good person คือ ได้คนทำงานจริง เป็นองค์กรผู้บริโภที่มีคุณภาพ

5. Good to the public คือตอบสนองและแก้ปัญหาของสาธารณะได้ หากจัดตั้งแล้วพบว่าไม่ดีเสนอให้ยุบทันที

          รศ.ภก.ดร. วิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากกระบวนการของฝั่งภาครัฐแล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อกฎหมายมีการใช้บังคับ จะได้สามารถยื่นเอกสารและจัดตั้งสภาองค์กรฯ เพื่อมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ในกฎหมายระบุให้สภาองค์กรต้องมีร่างข้อบังคับ หากรวมตัวกันได้บางส่วนแล้วก็สามารถเริ่มทำร่างข้อบังคับก่อนได้ เนื่องจากกระบวนการทำเอกสารข้อบังคับนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะมักมีการลงความเห็นจำนวนมาก และหาข้อสรุปได้ยาก

wrcd19 laws news pic 190314 0004

          นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนเพจภาคีผู้บริโภค กล่าวว่า ความกังวลอย่างหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคคือ หากมีกลุ่มผู้ประกอบการหรือกลุ่มนายทุนผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง ‘องค์กรผู้บริโภคแอบแฝง’ เพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วเข้าไปแทรกแซงอยู่ในสภาองค์กรฯ ก็อาจทำให้สภาองค์กรฯ ที่มีอยู่อ่อนแอ ไม่เกิดพลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีเงื่อนไขการจดแจ้งและกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ส่วนผู้บริโภคก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อให้สภาองค์กรฯ สามารถเป็นตัวแทนของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

          สำหรับเรื่องการทำหน้าที่ของสภาองค์กรฯ นั้น นายภัทรกร มองว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่สภาองค์กรไว้อย่างครบถ้วนฯ ซึ่งเป็นเรื่องดี น่าจะทำให้เป็นปากเป็นเสียง สะท้อนปัญหา และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในกรณีที่มีสภาองค์กรฯ มากกว่าหนึ่งสภา จะทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือทำให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเกิดปัญหาหรือไม่

wrcd19 laws news pic 190314 0001

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคควรทำในขณะนี้ คือองค์กรผู้บริโภค คือ เตรียมเอกสาร และหลักฐานการทำงาน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ สำหรับส่งให้นายทะเบียนกลาง หรือนายทะบียนจังหวัดทันทีที่เขาได้รับอำนาจให้จดทะเบียน นอกจากนี้ เมื่อเกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นแล้ว สภาองค์กรฯ ก็ควรไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ทั่วประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เกิดใหม่ ยังไม่มีสิทธิเข้าร่วมกับสภา หรือเป็นองค์กรที่ร่วมกันกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม

          นางสาวสารีกล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคควรให้ความสำคัญ คือ เราไม่ควรมีส่วนในการพิจารณาว่าเราเป็นองค์กรตามมาตรา 6 หรือไม่ แต่  องค์กรผู้บริโภคทุกองค์กรควรจะรับรู้ ติดตาม และเข้าไปมีส่วนร่วม ในการออกระเบียบในการลงทะเบียนที่สำนักปลัดเป็นผู้จัดทำ เพื่อจะดูว่าระเบียบที่ออกนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อความเป็นองค์กรผู้บริโภคหรือไม่ เนื่องจากในกฎหมายเขียนไว้ชัดว่าต้องรับฟังความคิดเห็นของพวกเรา

          “ความท้าทายของการเกิดสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ เรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยอมรับความหลากหลาย เพราะถ้าแต่ละองค์กรแบ่งกันเป็นกลุ่มย่อยๆ และไม่มีกลุ่มใดที่มีสมาชิกเกินครึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคที่จดทะเบียนทั้งหมด ก็ไม่มีทางที่สภาองค์กรฯ จะเกิดขึ้น” นางสาวสารี กล่าว

ติดตาม LIVE ได้ที่: 

Tags: คอบช. , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สมัชชาผู้บริโภค2562, สภาองค์กรของผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล