"เดินเพื่อผู้ป่วย-กัญชารักษาโรค" วงเสวนา ระอุ ! โจน จันได ซัด "กฎหมายต้องเอื้อการมีชีวิต เพราะชีวิตสำคัญกว่าเงินเสมอ'

Day 3

“เดินเพื่อผู้ป่วย” วงเสวนา ระอุ ‘ไพศาล’ ซัด รัฐเปิดช่องให้ต่างชาติ ครองกัญชา ด้าน ‘โจน จันได’ ชี้ กัญชาถูกและดี ปชช.ต้องเข้าถึงสิทธิรักษา

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ วัดหนองแพงพวย อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิข้าวขวัญ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสุขภาพไทย, มหาวิทยาลัยรังสิต, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน(ขสช.) และเครือข่ายผู้ป่วย (Healthy Forum) ร่วมจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายลบบัญชีกัญชาออกจากยาเสพติด พร้อมเรียกร้องให้เผยแพร่ข้อมูลกัญชาที่มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคให้ประชาชนรับทราบ และระดมทุนผลิตยาจากกัญชาสำหรับแจกฟรีเพื่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาและไม่สามารถเข้าถึงยา โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จ.พิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กม.

นอกจากนี้ยังได้จัดงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ “อาหาร สมุนไพร และกัญชากับการพึ่งตนเอง” โดยมีนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และนายโจน จันได ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ร่วมเสวนา

ไพศาล พชมงคล

นายไพศาล กล่าวว่า การเดินเพื่อผู้ป่วยครั้งนี้ เกิดจากความเสียสละของ 11 องค์กรและประชาชน เชื่อว่าอานิสงส์ของความเสียสละ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้หากกล่าวถึงโรคมะเร็ง ตนมองว่า ถ้าใช้กัญชารักษาถูกวิธี จะทำให้หายได้ มะเร็งในอดีตไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ของมนุษย์ ไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน ป่วยเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อย 1 ล้านคน และเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 60,000-100,000 คน นั้นหมายความว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งจะทำให้คนในครอบครัวเป็นทุกข์มาก ดังนั้นเมื่อเกิดกระแสเรียกร้องให้นำกัญชามารักษามะเร็ง ทุกคนจึงเกิดความหวัง แต่บางคนยังมองว่ากระแสดังกล่าวไม่นานก็เงียบ ซึ่งน่าเศร้าที่รัฐมีงบด้านสาธารณสุขปีละหลายแสนล้านแต่กลับไม่สามารถนำกัญชามาสกัดเป็นยา เพื่อรักษาโรคร้ายของคนไทยได้

“ความจริงคือ กัญชา เป็นยาที่มีมานานแล้ว หลายประเทศทั่วโลกใช้กัญชาสกัดเป็นยา และใช้เป็นส่วนผสมอาหาร แม้เครื่องสำอางยังมีส่วนผสมของกัญชา วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรให้ข้อมูลด้านเดียวว่ากัญชาเป็นสารเสพติดให้โทษ แต่ควรหาทางนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนดีกว่า”นายไพศาลกล่าว

นายโจน จันได กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสูญเสียอธิปไตยโดยไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องอาหาร การรักษาสุขภาพ เรื่องการเงิน และอีกหลายเรื่อง โดยสาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารแปรรูป ที่ผูกขาดจากไม่กี่บริษัทซึ่งไม่ใช่อาหารปกติที่คนสมัยก่อนบริโภค จึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยมากขึ้น แม้ทุกวันนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามีโรงพยาบาล มีหมอมากขึ้น แต่คนป่วยก็มากขึ้นตาม บางคนที่มีอาการป่วยหนักต้องขายทรัพย์สินเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพงมหาศาล ดังนั้นตนจึงอยากให้ทุกคนกลับไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนสมัยก่อนที่พึ่งพาตนเองได้ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยเอง การปลูกผัก รับประทานอาหารปลอดสารพิษ เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีคุณภาพ อาการเจ็บป่วยก็จะลดลง ไม่เป็นภาระของหมอและพยาบาล หมอก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

โจน จนได2

นายโจน กล่าวอีกว่า ถึงเวลาที่แล้วที่ทุกคนต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนเอง เพราะนโยบายกัญชาของรัฐไม่ตอบโจทย์ประชาชน สมัยก่อนกัญชาถูกสืบทอดความคิดให้มองเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่เมื่อเทียบกับเหล้า ตนมองว่าเหล้าน่ากลัวมากกว่า เพราะสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และความรุนแรงในครอบครัวล้วนมาจากเหล้าทั้งนั้น แต่ทำไมเหล้ายังถูกกฎหมายได้ ทั้งนี้คนจำนวนมากหมดหวังกับระบบที่มีอยู่ ผู้ป่วยมะเร็งหลายร้อยคนไปลงทะเบียนเพื่อเรียนรู้การรักษาตนเองตามศูนย์แพทย์พื้นบ้าน ดังนั้นกฎหมายควรเอื้อการมีชีวิต ไม่ใช่ออกมาทำให้ชีวิตคนจบลงเร็วขึ้น เพราะชีวิตคนสำคัญกว่าเงินเสมอ

“สมัยก่อนตอนผมอายุ 9 ขวบ ผมช่วยพ่อแม่ปลูกต้นกัญชา ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก เพราะในหมู่บ้านทั้งหมด 500 หลังคาเรือน ปลูกกันเสียส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าคิดคือ มีคนติดกัญชาเพียง 3 คน เท่านั้น ดังนั้นกัญชาจึงไม่ใช่ปัญหาด้านยาเสพติด เพราะคนสมัยก่อนจะเอากัญชามาเป็นส่วนผสมของอาหาร ในช่วงลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่อการเจริญอาหาร แต่ส่วนตัวผมไม่เคยสูบกัญชา เพราะผมมองว่าการติดสิ่งเสพติดเป็นการสูญเสียอิสรภาพของชีวิต ผมเคยนำมากินเพื่อเป็นอาหารและเป็นยาเท่านั้น ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้เคยทดลองใช้น้ำมันกัญชาของ อ.เดชา เพื่อรักษาอาการระคายเคืองตา ซึ่งได้ผลดีมาก จึงทำให้เกิดความสนใจเรื่องกัญชาและเริ่มศึกษาถึงคุณสมบัติในการรักษาของมัน ที่สำคัญผมอยากให้ทุกคนเข้าถึงของถูกและดี ผมจึงออกมาต่อสู้เพื่อให้เป็นยาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”นายโจน กล่าว

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, CannabisWalk, เดินเพื่อผ้ป่วย, กัญารักษาโรค, ไพศาล พืชมงคล , โจน จันได, CannbisWalk, มูลิธิข้าวขวัญ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย), มูลนิธิสุขภาพไทย, มหาวิทยาลัยรังสิต, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน(ขสช.) , เครือข่ายผู้ป่วย (Healthy Forum)

พิมพ์ อีเมล