กพย. รวมพล จี้ อย. จัดการปัญหา ‘ไซบูทรามีน’ เนื่องจากพบเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แพทย์ระบุ เป็นต้นเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน
วันนี้ (28 มิถุนายน 2561) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และนักวิชาการ จัดงานแถลงข่าว “ไซบูทรามีน : อันตราย สถานะทางกฎหมาย และการลักลอบนำเข้า”
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ทาง กพย. และภาคีเครือข่ายฯ ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องการปนปลอมไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างสรรพคุณในการลดความอ้วนจนมีผู้เสียชีวิต มากกว่า 10 ราย ภายใน 6 ปี อีกทั้งแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาในการควบคุม แต่ยังพบว่ามีการละเมิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายฯ นำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่ รูปธรรมการติดตามเฝ้าระวัง และข้อเสนอการปรับระบบในภาพรวม
ด้าน ภก.วสันต์ มีคุณ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และผู้แทนชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ tumdee.org ช่วงปี พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561 พบว่ามีรายงานการปลอมปนไซบูทรามีนถึง 135 ตัวอย่าง โดยในปี พ.ศ. 2560 พบมากที่สุด 80 ตัวอย่าง และเพียงปีครึ่งในปี พ.ศ. 2561 พบ 27 ตัวอย่าง มีไซบูทรามีนชนิดเดียวถึง 115 ตัวอย่าง อีกทั้งการสำรวจฉลากและกล่อง พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร จำนวน 81 ตัวอย่าง คือ ไม่มีการระบุหรือไม่มีเลขสารบบอาหาร ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต หรือมีแต่ไม่ตรงกับที่ขออนุญาต และมีเพียง 54 ตัวอย่างที่ขึ้นทะเบียนอาหารถูกต้องเท่านั้น
นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มพบ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อของ มพบ. ได้สุ่มซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถลดน้ำหนัก จำนวน 16 ยี่ห้อจากห้างออนไลน์ 8 แห่ง พบไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีนซึ่งเป็นยาที่ห้ามใช้ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 6 ผลิตภัณฑ์ และยังคงพบว่ามีการขายในร้านค้าออนไลน์ในขณะที่บางยี่ห้อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว และจากการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องของการขายเสริมอาหารลดน้ำหนักของห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง เมื่อวันที่ 16, 20, 25 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561 พบว่า 3 ห้าง จาก 8 ห้าง ยังคงขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย ทั้งที่ อย. ได้ประกาศแล้วว่ามีสารประกอบอันตราย และบางผลิตภัณฑ์ฯ ถูกเพิกถอนเลข อย. แล้วด้วยแต่ยังคงมีขายอยู่ในระบบออนไลน์
“ตามกฎหมายแล้ว ห้างออนไลน์มีหน้าที่รับผิดชอบต่อร้านค้าที่มาขายในระบบของตน และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ห้างออนไลน์จะต้องระงับการขายของผิดกฎหมายทันที ถ้าห้างออนไลน์ดังกล่าวไม่ระงับการขาย ขอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายโดยใช้บทลงโทษสูงสุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานผู้ประกอบการดีในสังคม” นางสาวสถาพรกล่าวเพิ่มเติมว่าทาง มพบ. ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง อย. กสทช. และกระทรวงดิจิทัล เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายทันที และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังห้างออนไลน์ดังกล่าวที่มีการขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายให้นำข้อมูลออกจากระบบการขายโดยทันทีเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
ภก.จัตุพล กันทะมูล เภสัชกรประจำโรงพยาบาลปลวกแดง จ.ระยอง กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีการปลอมปนไซบูทรามีนในที่โรงพยาบาลปลวกแดง จำนวน 64 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 – 68 ปี โดยพบมากที่อายุ 31 – 50 ปีและอาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด คือ ใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง รองลงมา คือ นอนไม่หลับ ฝันร้าย นอกจากนี้ จากการติดตาม HPVC ของ อย. พบว่า มีจำนวนรายงานในระบบน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น ข้อมูลจาก จ.ระยอง มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการปลอมปนไซบูทรามีนเพียง 2 ราย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาระบบการรายงานจากพื้นที่ให้เข้าใจการเฝ้าระวังเชิงรุกแบบบูรณาการ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ การรายงาน และการประมวลภาพรวม
ขณะที่ อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักจากการทานผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนจะได้ผลดีในช่วง 6 เดือนแรก ทว่าหลังจากนั้นจะไม่สามารถลดน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ น้ำหนักจะคงที่หรืออาจเพิ่มขึ้นอีกได้ และการทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไซบูทรามีนนั้นจะเป็นการไปเพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชมักใช้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเป็นจำนวนมากซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการเร่งตามสืบต้นตอของการกระจายและการใช้ผลิตภัณฑ์ปนปลอมไซบูทรามีนให้ครอบคลุม และเร่งด่วน
ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2560 มีการขอคำปรึกษาจากสถานบริการสุขภาพมายังศูนย์ฯ ถึงอันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วน จำนวน 244 ราย และได้รับการตรวจยืนยันว่าพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ 14 ราย แต่ก็ยังมีบางรายที่ไม่สามารถตรวจหาสารไซบูทรามีนได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังกรณีอันตรายจากไซบูทรามีนอย่างจริงจัง
ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไซบูทรามีนยังคงมีสถานะเป็นยา เพราะเป็นการยกเลิกทะเบียนแบบสมัครใจ อีกทั้งการขายยาควบคุมพิเศษในร้านขายยาอาจยังมีช่องโหว่เรื่องการกระจายตัว เช่น สเตียรอยด์ นอกจากนี้ การนำไปปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติอาหารและพระราชบัญญัติยา อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนสถานะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ระบบควบคุมจะเข้มงวด และบทลงโทษจะรุนแรงขึ้น ทั้งเรื่องการผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย