30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนุนสิทธิผู้บริโภคไทยทัดเทียมสากล พร้อมสนับสนุนรัฐเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแก้ปัญหาละเมิดสิทธิออนไลน์

ภาพข่าววันผู้บริโภคไทย 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยวันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและหลากหลายตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  สิทธิผู้บริโภคไทยควรจะต้องได้รับการยกระดับให้ทัดเทียมสิทธิผู้บริโภคสากล เพื่อให้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างรอบด้าน

          วันนี้ (30 เมษายน  2565)  นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า วันที่ 30 เมษายน ของทุกๆ ปีเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและหลากหลายตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งปัญหาพื้นฐานเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ์  ค่ารักษาพยาบาล ข้อมูลส่วนบุคคล ปัญหาการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต อากาศและน้ำดื่มที่สะอาด ทางเลือกในการบริโภคที่มีจำกัด ตลอดจนปัญหาการผูกขาดเรื่องการสื่อสาร กลลวงสื่อและการค้าออนไลน์  ดิฉันคิดว่านอกจากสิทธิผู้บริโภค 5 ประการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว สิทธิผู้บริโภคไทยควรจะต้องได้รับการยกระดับให้ทัดเทียมสิทธิผู้บริโภคสากล

          สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ ที่ถูกบัญญัติโดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลแตกต่างจากสิทธิผู้บริโภคของไทยพอสมควร โดยข้อที่แตกต่างจากสิทธิผู้บริโภคไทยคือข้อที่ 4 สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และข้อ 8 ได้แก่สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ส่วนข้อที่สิทธิผู้บริโภคไทยขยายเพิ่มเติมจากสิทธิผู้บริโภคสากล คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ซึ่งหากมีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของไทย จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมกับปัญหามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปัจจุบัน ข้อมูลส่วนบุคคลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ ถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ และสนับสนุนให้รัฐเร่งบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ให้เท่าทันกับปัญหาละเมิดสิทธิออนไลน์

หมายเหตุ

สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมาย 5 ประการ มีดังนี้

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

อ่านต่อได้ที่ https://www.consumerthai.org/data-storage/consumers-law/3385-30april.html

สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ มีดังนี้

1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to safety)

2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to be informed)

3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to choose)

4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม (The right to be heard)

5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to satisfaction of basic needs)

6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress)

7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)

8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to a healthy environment)

          ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

World Consumer Rights Day Campaign Instagram Post

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย, สิทธิผู้บริโภคไทย

พิมพ์ อีเมล