น้ำ ไฟ เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน มพบ.แนะ สคบ.ออกประกาศควบคุมสัญญาเรื่องการเช่าหอพัก และให้มีกำหนดอัตราค่าสาธารณูปโภคคิดตามจริง ไม่ควรมีราคาแพง หรือถูกบวกกำไรจากผู้ประกอบธุรกิจ
จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหอพัก ว่าค่าไฟฟ้าภายในหอพักมีราคาแพงนั้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า ค่าน้ำหรือค่าไฟภายในหอพักนั้น ถือว่าเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญ หรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จึงไม่ควรมีราคาแพง หรือถูกบวกกำไรจากผู้ประกอบธุรกิจ จนทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐมีมาตรการควบคุมค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำของธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัย
“น้ำ ไฟเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เราจึงขอให้ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ออกประกาศควบคุมสัญญาเรื่องการเช่าหอพัก หรือห้องเช่า และให้มีกำหนดอัตราค่าสาธารณูปโภคที่ต้องคิดตามจริง โดยให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐจัดเก็บ คือ ห้ามคิดกำไร” นางนฤมล กล่าวและว่า ธุรกิจดังกล่าวควรแข่งขันกันเฉพาะค่าเช่าห้อง หรือค่าบริการส่วนอื่น ที่ไม่ใช่สาธารณูปโภคเท่านั้น ซึ่งสามารถแข่งขันกันได้อยู่แล้ว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถมาร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร. ๐๒ – ๒๔๘ – ๓๗๓๗ หรือทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
อนึ่ง ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรกฎาคม ๒๕๕๘ ระบุว่า อัตราค่าไฟฟ้ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๘ ประเภท ซึ่ง "บ้านอยู่อาศัย" จัดอยู่ในประเภทที่ ๑ โดยที่ค่าไฟที่จ่ายกันในแต่ละเดือนนั้นจะประกอบด้วยค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อคำนวณแล้วจะเสียค่าไฟเฉลี่ยประมาณ ๓.๙๗ บาทต่อหน่วย ส่วน "หอพัก" หรือ "อพาร์ทเมนท์" จัดอยู่ในประเภทที่ ๕ หรือ "กิจการเฉพาะอย่าง" ซึ่งเป็นการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบกิจการโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สคบ. มีกฎหมายที่ควบคุมธุรกิจหอพัก โดยออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของ สคบ.กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน โดยบังคับให้เจ้าของหอพักต้องออกหลักฐานการรับเงินจากผู้บริโภค พร้อมระบุรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วน หากไม่ทำตามถือว่ามีความผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าสาธารณูปโภคแต่อย่างใด(สาระสำคัญของ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.๒๕๕๘ http://goo.gl/icfjr3)