เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และองค์กรภาคประชาชน ร่วมให้กำลังใจ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ หลังโดนจุฬาฯ เรียกสอบ พร้อมเรียกร้องยกเลิกการใช้พาราควอตภายในสิ้นปี 62 ด้านรองอธิการบดีจุฬาฯ ระบุ ไม่ใช่การสอบสวน เป็นเพียงการหาข้อเท็จจริง ยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
วันนี้ (29 สิงหาคม 2562) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง หรือ ไทย-แพน (Thai-PAN) พร้อมตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และองค์กรภาคประชาชนหลายกลุ่ม เดินทางไปยังอาคารจามจุรี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ยื่นหนังสือร้องเรียนว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้นำเสนอข้อมูลผลกระทบจากการใช้สารพาราควอต และการตกค้างของสารเคมีดังกล่าวในผักผลไม้ สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน และทำให้เกษตรกรถูกมองว่าเป็นจำเลยของสังคมจากการใช้สารเคมี
ทั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ได้ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกจาก ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ โดยมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. มหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่งานวิชาการเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน
2. เรียกร้องให้มีการยกเลิกสารพิษพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องยกเลิกภายในสิ้นปี 2562 นี้ และหากจะตั้งคณะกรรมการ ควรมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องการหาทางเลือกให้แก่เกษตรกรและมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรเป็นสำคัญ ไม่ควรตั้งกรรรมการเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก
และ 3. เรียกร้องให้ประชาชน รวมทั้งพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะแบนสารพิษร้ายแรง ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเพิกเฉยต่อข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารอันตรายดังกล่าวมาโดยตลอด
(สามารถอ่าน จดหมายเปิดผนึก และ คำแถลงของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ได้ท้ายข่าว)
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งเกษตรกรและผู้ที่บริโภคผักผลไม้ที่ปนเปื้อนสารเคมี ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีดังกล่าวจึงไม่ใช่การทำร้ายเกษตรกร แต่เป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เกษตรกรเพื่อให้เขาทราบถึงอันตราย และหันไปใช้วิธีเพาะปลูกที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“เคยมีกรณีที่คนเสียชีวิต แม้จะได้รับสารพาราควอตในปริมาณเพียงน้อยนิด โดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้สารคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก็มีอันตรายเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปกป้องชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการหาให้ข้อมูลเกี่ยวกับความอันตราย รวมถึงต้องมีการเสนอทางเลือกอื่นแทนการใช้สารเคมีด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ศ.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวหลังจากเครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องให้ยุติการสอบสวน ว่าการดำเนินการตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เป็นไปตามกระบวนการปกติ และเป็นเพียงการหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่การสอบสวน ทั้งนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและบุคลากรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในหลายมิติ ทั้งภายในและภาคสังคม
ศ.บุญไชย กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการชี้แจงข้อเท็จจริงออกไปก่อน เนื่องจากมีภาคประชาชนมารวมตัวเรียกร้องให้ยกเลิกการสอบสวน รวมถึงได้รับข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพิ่มเติม โดยจะมีการนัดหมายเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงข้อมูลอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถระบุวันที่และระยะเวลาของการสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงได้
จดหมายเปิดผนึกชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย
คำแถลงของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายรายร้ายแรง 686 องค์กร