มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 3 องค์กร ร่วมจัดเสวนา ‘นักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่ผ่านคู่มือบริโภคศึกษา’ ด้านครูผู้สอนชี้มีประโยชน์กับนักเรียนเรื่องการบริโภค พร้อมผลักดันเข้าสู่โรงเรียนในชุมชนเป็นวิธีการแบบป่าล้อมเมืองก่อน
วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 เวลา 13.00 – 14.30 น. ในงานวันสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) ร่วมจัดกิจกรรมเสวนา : พูดสร้างแรงบันดาลใจ ในหัวข้อ ‘นักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่ผ่านคู่มือบริโภคศึกษา’ โดยมี รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา และรองกรรมการ คอบช. เป็นผู้ดำเนินรายการ และวิทยากรอีก 4 คน ได้แก่ พรศิริ เทียนอุดม คุณครูโรงเรียนมักกะสันพิทยาคม กรุงเทพมหานคร ดวงพร สมจันทร์ตา คุณครูโรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง กชกร สังเรืองเดช ผู้แทนนักเรียนมัธยมต้น โรงเรียนอัมพวันวิทยา จังหวัดสมุทรสงคราม และสิรินนา เพชรรัตน์ ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคและหนึ่งในคณะผู้จัดทำคู่มือบริโภคศึกษา ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อเสนอแนะจากการนำคู่มือผู้บริโภคศึกษาไปสอนในโรงเรียน ที่ห้องไฮเดรนเยีย 2 โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ก่อนที่จะเข้าสู่การเสวนา รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา และรองกรรมการ คอบช. กล่าวถึงเหตุผลในการจัดทำคู่มือผู้บริโภคศึกษา ว่าเป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง
พรศิริ เทียนอุดม อาจารย์โรงเรียนมักกะสันพิทยาคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอน สอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษา ซึ่งก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้
ขณะเดียวกันก็ยังมีอุปสรรค คือ การที่จะต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา เช่น ในบางบทเป็นเนื้อหาที่ยังเข้าใจยาก ก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้
ส่วนคำแนะนำ หรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น พรศิริ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้
ด้านดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ตอนนี้นำคู่มือฯ นี้มาสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ซึ่งจะมีการประเมินผลนักเรียน ด้วยการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน รวมถึงสอบถามเป็นระยะๆ และพบว่านักเรียนมีความรู้และเข้าใจเรื่องการบริโภคมากขึ้น และด้วยความที่โรงเรียนมีทั้งสื่อการเรียนการสอนที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ จึงคิดว่าไม่เป็นภาระเท่าไรในการจัดสอนวิชานี้
ดวงพร กล่าวอีกว่า เมื่อสอนไปได้สักระยะก็พบว่าบางเนื้อหาอาจจะมีความยากสำหรับเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น เช่น เรื่องสัญญาณไฟจราจรอาหาร หรือบทโภชนาการ จึงได้ปรับเนื้อหาเหล่านั้นให้ง่ายขึ้นโดยการใช้สื่อหรือกิจกรรมเข้ามาช่วยสอนให้มากขึ้น และแนะนำว่าถ้านำคู่มือบริโภคศึกษาประยุกต์เข้ากับวิชาต่างๆ ได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากที่เดียว
ขณะที่กชกร สังเรืองเดช ผู้แทนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนอัมพวันวิทยา จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ได้เริ่มเรียนเมื่อเทอมหนึ่ง ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งอยู่ในคาบเรียนวิชาพัฒนาตนเอง หรือชุมนุม ที่ใช้ชื่อว่า ‘ชุมนุมบริโภคศึกษา’ คิดว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจและสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ส่วนเรื่องเนื้อหาในคู่มือฯ เข้าใจได้ง่าย มีตัวอย่างเนื้อหาที่ชัดเจน และทำให้ไม่น่าเบื่อเวลาเรียนด้วย นอกจากนี้ในคู่มือก็มีการบอกรายละเอียดที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลขององค์กรต่างๆ หากเราเกิดปัญหาในลักษณะนี้ๆ ควรจะไปร้องเรียนที่หน่วยงานใด
ส่วนสิรินนา เพชรรัตน์ ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคและเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำคู่มือบริโภคศึกษา กล่าวถึงกระบวนการทำงานการออกแบบเนื้อหาในคู่มือฯ ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เรื่องบริโภคว่า ตัวเอง อาศัยความสนิทสนมจากการเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับโทรคมนาคมเข้าไปทำงานในโรงเรียนเดิม เพื่อหาและเก็บข้อมูลจากเด็กๆ จากนั้นจึงนำมาเขียนวัตถุประสงค์และหลักสูตรของคู่มือฯ นี้ และพยายามปรับสื่อการเรียนการสอนให้มีความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยตอนนี้โลกของสื่อมันเปลี่ยนผ่านไปเร็วมาก หากใช้วิธีการสอนแบบเดิมคงจะไม่มีเด็กสนใจ ซึ่งโรงเรียนที่นำหลักสูตรนี้ไปทดลองโรงเรียนแรกเลย คือ โรงเรียนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อได้พูดคุยกับคุณครูที่นั่นจึงได้นำหลักสูตรไปใช้ในคาบลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ผลปรากฏว่าหลักสูตรที่นำไปได้ทดลองได้ใช้ทุกหลักสูตร อีกทั้งยังได้ผลตอบรับที่ดีกลับมาด้วย ต่อมาเมื่อเทอมที่แล้วก็ได้นำหลักสูตรนี้ไปใช้อีกในโรงเรียนคีรีรัฐวิทยาคม จ.สุราษฎร์ธานี โดยครั้งหนึ่งกับครั้งสองมีความแตกต่างกัน คือ จะต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน
สิรินนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลตอบรับที่ได้ คือ นักเรียนมีความตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น โดยวัดจากคาบลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งคาบแรกๆ อาจจะยังไม่ค่อยชอบ แต่คาบหลังจะเห็นได้ชัดเลยว่านักเรียนอยากรู้ว่าวันนี้จะนำสื่ออะไรมาสอนอีก และเขาก็กระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้มากขึ้น อีกอย่างที่ได้รับกลับมาด้วย คือ คุณครูก็มีความสนใจด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อครูสุขศึกษาสอนเรื่องยา เขาก็จะนำไปใช้และหยิบประเด็นที่เกี่ยวข้องไปสอนนักเรียนด้วย ส่วนเป้าหมายในอนาคตก็คือ ต้องการผลักดันให้บรรจุในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ เพราะคิดว่ามีความน่าสนใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน
“ส่วนที่น่าจะทำได้ตอนนี้ ก็อาจจะเริ่มที่พื้นที่เล็กๆ ก่อน เช่น โรงเรียนในชุมชน โดยการผลักดันให้ครูนำไปสอนในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นการผลักดันแบบป่าล้อมเมือง จากนั้นก็เริ่มผลักดันให้นำไปสอนในโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น และถ้าหากวิชานี้มีหลายๆ โรงเรียนนำไปสอนมากขึ้น หวังว่ากระทรวงศึกษาจะเห็นความสำคัญและนำเข้าไปใส่ในหลักสูตร” สิรินนากล่าว
หลังจากงานเสวนาเสร็จสิ้น ได้มีการมอบโล่แก่โรงเรียนและครูผู้สอนที่สนับสนุนคู่มือบริโภคศึกษา โดย ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) และบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แบ่งเป็น โรงเรียนจำนวน 12 โรงเรียน คือ
1. โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง
2. โรงเรียนบ้านแม่กา จังหวัดพะเยา (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ)
3. โรงเรียนม่วงหวานพัฒนาศึกษา จังหวัดขอนแก่น
4. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ขอนแก่น (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ)
5. โรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
6. โรงเรียนเอกอโยธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ)
7. โรงเรียนคีรีรัฐวิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
8. โรงเรียนเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ )
9 . โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ)
10. โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัดฉะเชิงเทรา (โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ )
11. โรงเรียนมักกะสันพิทยา จังหวัดกรุงเทพมหานคร
และ 12. โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ( โรงเรียนทดลองใช้คู่มือ)
และคุณครูจำนวน 8 คน ได้แก่ คุณครูดวงพร สมจันทร์ตา, คุณครูพรรณทิพย์ วงค์ช่างเงิน, คุณครูทินกร อนุพันธ์, คุณครูอทิตา บุญขยาย, คุณครูนิตยา นิลรัตน์, คุณครูณัทณัน ธูปแพ, คุณครูมานิตย์ คงเจริญ, และคุณครูพรศิริ เทียนอุดม