เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงข่าว “บัตรคนจนกดเงินสดได้ แจกเงินหวังผล ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ” ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บำนาญแห่งชาติ”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนที่ไปขึ้นทะเบียนฝึกอาชีพ สามารถกดเงินสดออกจากบัตรได้นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้ให้กับทุกคน แต่ให้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพเท่านั้น
“การแจกเงินเพียงเพื่อหวังผล เอาเงินมาล่อให้คนไปฝึกอาชีพ แต่การฝึกอาชีพก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เหมือนเอาน้ำไปรดทราย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมา ถือเป็นความยากลำบากที่คนจนถูกกระทำ ถ้าไม่ไปฝึกก็ถูกตราหน้าว่าไม่ขวนขวาย ขี้เกียจ แล้วจะเอาเงินในบัตรไปซื้อของที่ได้มาจากการฝึกอาชีพก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องรูด ดังนั้น ถ้าให้ไปฝึกอาชีพแล้วต้องให้เครื่องรูดบัตรมาด้วย” นายนิมิตร์กล่าวและว่า หากรัฐมีความจริงใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องหยุดการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การให้เงินเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว หยุดตีตราคนจนว่าขี้เกียจ หรือทำให้ประเทศล่มจม ซึ่งรัฐต้องใช้วิจารณญาณที่ดีกว่านี้
ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาให้เกิดรัฐสวัสดิการ ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดความยากจน เช่น การมีหลักประกันด้านรายได้ การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าในผู้สูงอายุ โดยยึดฐานจากเส้นความยากจน รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกคน และการศึกษาฟรีถึงปริญญาตรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ต้องไปกู้
ด้านนางหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด บางครั้งคนจนไม่ใช่ไม่มีอาชีพ หรือขี้เกียจ แต่เขามีอาชีพของเขาอยู่ เช่น ทำงานก่อสร้าง หรือรับจ้างรายวัน ซึ่งบางช่วง บางวันอาจไม่มีงาน การบังคับให้คนต้องไปฝึกอบรม เพื่อจะได้เงินเพิ่ม ทำให้รายได้รายวันของเขาหายไป หากรัฐต้องการจะช่วยทำไมไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะเขามีอาชีพอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มทักษะให้คนเหล่านั้นในอาชีพเดิม พัฒนาศักยภาพของเขา หรือหาแหล่งทุนให้กู้ เป็นต้น
“อย่างใช้บัตรคนจน จะเก็บเงินไว้ใช้ก็ไม่ได้ ต้องใช้ให้หมดเดือนต่อเดือน แล้วก็ซื้อได้แต่ของแห้ง บางทีเราอยากกินของสด แต่หัวหอม กระเทียม พริกสดมันรูดไม่ได้ แล้วร้านขายของชำ ให้ชาวบ้านเขาไปซื้อได้ไหม เพื่อกระจายรายได้ ให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ไม่ต้องกระจุกเฉพาะในธงฟ้า” ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคกล่าวและว่า รัฐให้คนไปฝึกอบรมมาแล้วมีกระบวนการติดตามไหมว่าได้ผลเป็นอย่างไร อบรมแล้วได้เอาไปทำต่อไหม อย่างไร
นางยุพิน อยู่สกุล เครือข่ายสลัมสี่ภาค และคณะทำงานบำนาญแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการฝึกอาชีพฟรีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ คนยังไม่ไปฝึกเลย เพราะฝึกแล้ว ก็ไปค้าขายอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แม่ค้าขายของข้างถนนก็โดนจับเรียบ แล้วจะให้ไปขายของที่ไหน