บทบาทเครือข่ายภาคประชาสังคมกับการจัดการปัญหาร้องเรียนตามมาตรา ๔๑

133315

เจตนารมณ์ของมาตรา ๔๑ คือการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด เป็นการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ   ถ้าดูทั้ง ๓ ระบบในขณะนี้มีกลไกการเยียวยาความเสียหาย คือระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองและระบบประกันสังคมเท่านั้น   ที่ยังไม่มีคือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และนี่คือความเหลื่อมล้ำของระบบในอนาคตจะทำให้มีได้อย่างไร

 

               วันนี้ (๑ มิถุนายน ๒๕๖๑)  เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๓๐ น. ที่ห้องประชุมออคิด บอลรูมชั้น ๒ โรงแรมพลูแมน ราชาออคิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนกลาง จัดประชุมสัมมนาแก่คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดภาคอีสาน มีผู้เข้าร่วมจำนวน ๗๐ คนจาก ๒๐ จังหวัดในภาคอีสาน   ในหัวข้อ “การพิจารณามาตรา ๔๑ ” ให้ชอบด้วยกฎหมาย  

               นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระตามมาตรา ๕๐(๕) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ “ สถานการณ์มาตรา ๔๑ กับการจัดการปัญหาในพื้นที่ ” กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรา ๔๑ คือการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด เป็นการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ   ถ้าดูทั้ง ๓ ระบบในขณะนี้มีกลไกการเยียวยาความเสียหาย คือระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองและระบบประกันสังคมเท่านั้น   ที่ยังไม่มีคือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และนี่คือความเหลื่อมล้ำของระบบในอนาคตจะทำให้มีได้อย่างไร   ขณะนี้กฎหมายหลักประกันสุขภาพใช้มา ๑๖ ปี ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วการยื่นเรื่องขอมาตรา ๔๑ จะผ่านมาทางศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระตามมาตรา ๕๐(๕) จะเยอะแต่ในปัจจุบันหน่วยบริการทุกแห่งจะมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้วย มีบทบาทการช่วยเหลือให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ส่งเรื่องเพื่อขอรับการช่วยเหลือตามมาตรา ๔๑ ดังนั้นเรื่องที่จะผ่านมาที่ศูนย์ฯ จะน้อยลงแต่ก็พอมีเป็นระยะ พอมีเรื่องเข้ามาจะมีการสอบข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารส่งเรื่องไปที่กองเลขา ม.๔๑ คือกลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งศูนย์ฯ จะลงพื้นที่ร่วมกับ สสจ. และเมื่อรวบรวมเอกสารเสร็จจะยื่นเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาว่าเข้าตามเกณฑ์หรือไม่ ควรช่วยเหลือเป็นเงินเท่าไหร่

                นายปฏิวัติกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในเรื่องที่หน่วยรับเรื่อง ม.๕๐(๕) ที่เป็นปัญหาว่ามีการเรียกรับเงินหรือรับส่วนแบ่งจากผลของการพิจารณาช่วยเหลือนั้น ก็ต้องเรียนต่อกรรมการทุกท่านว่าทางภาคประชาชนไม่มีเจตนาที่จะเรียกรับเงินตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนึ่งของทางอีสาน หากตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูลจริงคณะอนุกรรมการควบคุม ฯ เขต (อคม.)และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขสามารถที่จะถอนทะเบียนจากการเป็นหน่วยรับเรื่อง

               บทบาทของหน่วยรับเรื่องตามมาตรา ๕๐(๕) อีกอย่างคือการประสานงานแก้ไขปัญหา   การนำเรื่องร้องเรียนมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการร่วมกับหน่วยบริการซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยได้เลือกเอาหน่วยบริการ ๑-๒ แห่งในจังหวัดของตนเพื่อเป็นพื้นที่ร่วมกันพัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการ การเยียวความเสียหายตามมาตรา ๔๑ ของหลักประกันสุขภาพเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ระบบอื่นหรือบริการสาธารระอื่นของรัฐควรนำไปเป็นกรณีการชดเชยเยียวยา เช่น ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น”

 

                ทั้งนี้สิ่งที่ภาคประชาชนยังกังวลต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพคือ ๑.)เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่ระบุเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ มองประชาชนเป็นแค่เพียงผู้รอรับบริการ ไม่ยอมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา มีการบังคับร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ๒.) กระทรวงสาธารณสุขได้ออก พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ มีสัดส่วนภาคประชาชน ๒ คน ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ป่วย ภาคประชาชนเราคัดค้านและควรสนับสนุน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้เสนออยู่ในขณะนี้   ๓.) การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่แก้แล้วแย่กว่าเดิม ยิ่งแก้แล้วยิ่งแย่และ ๔.) ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ…(ชุปเปอร์บอร์ด) ซึ่งภาคประชาชนมองว่าเป็นการรวบอำนาจ ผูกขาด ระบบสุขภาพตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควรจะใช้กลไกที่มีอยู่แล้วเช่น พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนมาร่วมคิดออกแบบนโยบายด้านสุขภาพร่วมกันและทางภาคประชาชนจะได้ติดตามและออกมาส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้รับฟังเสียงของประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการปฏิรูปที่แท้จริงต่อไป

#เครือข่ายภาคอีสาน #สปสช 

 

133308   133312

พิมพ์ อีเมล