เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่ขอนแก่น ยื่นหนังสือกับศูนย์ดำรงธรรม เพื่อชะลอแผนพัฒนา บขส. ไปเป็นตลาด ชี้ยังมีผู้โดยสารที่ต้องการใช้ทั้ง บขส.1 ร่วมกับ บขส.3 อยู่ พร้อมเสนอ 2 แนวทางเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
จากกรณีที่สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น มีประกาศเรื่องการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารขอนแก่นแห่งที่ 1 (บขส.1) บริเวณ ถ.ประชาสโมสร เขตเทศบาลนครขอนแก่น ไปรวมกับสถานีขนส่งผู้โดยสารขอนแก่นแห่งที่ 3 (บขส.3) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก บขส.1 ประมาณ 9 ก.ม. และนำรถโดยสารประจำทางเข้าใช้ที่ บขส.3 เพียงแห่งเดียวนั้น
ล่าสุด วันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 15.00 น. ที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้ายสถานีขนส่งฯ ดังกล่าว จำนวน 15 คน รวมตัวกันเพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแต่กลับไม่พบ จึงมายื่นหนังสือไว้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่นแทน เนื่องจากทราบข่าวว่าจะมีการพัฒนา บขส.1 มาเป็นตลาด ทั้งนี้ หาก 15 วันไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะเข้าตามเรื่องอีกครั้ง
นางกุลคณิต สีโสภา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯ ได้ยื่นคำร้องเพื่อคัดค้านการย้าย บขส.1 ไปรวมกับ บขส.3 ต่อศาลปกครองขอนแก่น แต่ศาลมีคำพิพากษายกคำร้อง ทางเครือข่ายฯ จึงยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล อย่างไรก็ตาม ได้ทราบข้อมูลมาว่าขณะนี้ทาง จ.ขอนแก่นได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนในการพัฒนา บขส.1 เป็นตลาด เครือข่ายฯ จึงออกมาเรียกร้องให้มีการชะลอแผนดังกล่าว
“การพัฒนาพื้นที่สถานีให้เป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ นั้น เป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และยังมีประชาชนผู้ใช้รถโดยสารที่ต้องการให้มีการใช้ บขส.1 ร่วมกับ บขส.3 โดยจัดหมวดรถเข้าสถานีเพื่อสร้างทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้สามารถเข้าถึงหลักการของระบบการบริการที่ดี เช่น สะดวก ประหยัด ปลอดภัย รวดเร็ว ช่วยพัฒนาเมือง ไม่แออัด โดยไม่ทำให้ประชาชนต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ทั้งด้านรายจ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นางกุลคณิตกล่าว
นางกุลคณิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเครือข่ายมีข้อเสนอสองประการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ประการแรก คือ ให้ชะลอแผนการพัฒนาพื้นที่ บขส.1 ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นที่สุด และประการที่สอง ทำการศึกษาผลกระทบจากการย้ายรวม บขส. เหลือเพียงแห่งเดียว ให้ครอบคลุมรอบด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ ฯลฯ รวมทั้งต้องครอบคลุมพื้นที่ที่ประชาชนต้องอาศัยการเดินทางรถโดยสารสาธารณะ