มพบ. ร่วมร้องแมคโดนัลด์ (McDonald’s) , ซับเวย์ (Subway) และเคเอฟซี (KFC) หยุดใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ ด้านเภสัชกรห่วง ใช้ยาฯ เลี้ยงสัตว์ จะทำให้คนดื้อยามากขึ้น
จากกรณีที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ได้ออกมาเรียกร้องให้ร้านแมคโดนัลด์ (McDonald’s) , ซับเวย์ (Subway) และเคเอฟซี (KFC) หยุดใช้เนื้อสัตว์ที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาประกอบอาหารนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลได้สนับสนุนและร่วมเรียกร้องให้ทั้ง 3 บริษัทยุติการใช้เนื้อและไก่จากฟาร์มทั่วโลกที่เลี้ยงสัตว์ด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน
ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้เร็วและรุนแรงมากขึ้น เช่น ในสถานพยาบาลมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียค่อนข้างมาก อย่างคนไข้เป็นหวัดก็ให้ยาต้านแบคทีเรีย ทั้งที่หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งร้อยละ 80 – 90 ของคนที่เป็นหวัดไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย เป็นต้น
“ที่เราเป็นห่วงคือ การใช้ยานี้ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว หรือในวงจรอาหาร อย่างในประเทศไทย เราเจอยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำที่ชาวบ้านซื้อมาใช้ และใช้กับสัตว์เลี้ยงด้วย เช่น รักษาการบาดเจ็บของไก่ชน ซึ่งสารนี้จะทำให้เกิดการดื้อยาทั่วไปหมด ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผู้จัดการแผนงานฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลกระทบของการมีเชื้อดื้อยาคือ หากป่วยก็ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น ใช้ยาที่แรงขึ้น และรักษาได้ยากขึ้น ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีประมาณการว่าคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 รายต่อปี ขณะที่ประมาณการของทั่วโลกคือ 700,000 รายต่อปี และที่น่ากลัวที่สุดคือ หากไม่มียาใช้ โรคระบาดก็จะมีมากขึ้นในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมทั้งหากเลี้ยงสัตว์ด้วยยาปฏิชีวนะ การส่งออกก็จะประสบปัญหาเช่นกัน
“ในการประชุมสมัชชาสุขภาพ เรามีข้อเสนอว่าทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมและประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญ โดยต้องบูรณาการทั้งในโรงพยาบาล ชุมชน และภาคการเกษตร ด้วยการมีนโยบายแห่งชาติ ประสานงานกับทุกภาคส่วน และมียุทธศาสตร์ในการให้การศึกษากับประชาชน ต้องให้ประชาชนไม่เลือกเนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ และประชาชนต้องตื่นตัวและเรียกร้องข้อมูลให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะรุนแรง รวมทั้งรัฐก็ต้องตรวจสอบอาหารว่ามียาแบคทีเรียตกค้างหรือไม่ เช่น ในฟาร์ม หรือในการทำประมง เป็นต้น” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 พ.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันรู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือ Antibiotic Awareness Day
พร้อมกันนี้ในวันที่ 24-26 พ.ย. 58 จะมีการจัดงานANTIBIOTIC AWARENESS WEEK 2015 ขึ้น โดยสามารถติดตามรายละเอียดและเชิญชวนให้กดไลค์เพจ www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness/