เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.เกษตรฯ เร่งรัดขอให้มีคำสั่งด่วนให้กรมวิชาการเกษตร ยกเลิกเพิกถอนและประกาศไม่ต่อทะเบียนสารเคมีอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมถึงจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 พบ 48 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว เหตุพิษเฉียบพลันสูง มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็ก และเป็นสารก่อมะเร็ง หวั่นปล่อยไว้ ทำสุขภาพคนไทยย่ำแย่
วันนี้ (18 ก.ย.60) เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค นำโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้มีคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกและจำกัดการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า “ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานนั้น ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส รวมถึงจำกัดการใช้ สารไกลโฟเซต อย่างชัดเจน การที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะไม่ดำเนินการตามมติดังกล่าวในข้อแรก โดยอ้างว่ากระทรวงเกษตรฯ ขาดความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัย โดยจะส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาต่อ ซึ่งก็คาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเองก็คงไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพเช่นกัน อาจเป็นการกระทำที่ละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค”
“มติที่ประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 นั้นมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ก็มีส่วนร่วมในการพิจารณากับคณะกรรมการชุดนี้มาโดยตลอด จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้ต้องนำไปพิจารณาต่อให้การเพิกถอนสารเคมีอันตรายดังกล่าวล่าช้าออกไปอีก ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง” ประธาน สสอบ.กล่าว
ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาพิจารณาผลกระทบ และมีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตนั้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งมีงานวิชาการรองรับชัดเจน”
“ปัจจุบันประเทศในทวีปเอเชีย ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอต เช่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา แม้แต่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตยังประกาศห้ามใช้ ทำให้พาราควอตเข้าเงื่อนไขการพิจารณาเพิกถอนทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรที่ว่า หากประเทศผู้ผลิตต้นทางและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนของไทยมีการยกเลิกหรือประกาศห้ามใช้ คณะกรรมการก็ควรพิจารณายกเลิกการใช้เช่นเดียวกัน คือ One Ban All Ban Policy ” นักวิชาการด้านอาหารฯ กล่าว
ด้านนายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “สารพาราควอตนั้นเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ เป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน ระบบประสาท โดยสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังของเกษตรกรได้ ซึ่ง 48 ประเทศทั่วโลกได้แบนไม่ให้มีการใช้พาราควอตในทางการเกษตรแล้ว สำหรับคลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นยาฆ่าแมลง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวร ส่วนสารไกลโฟเซตนั้น เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์”
“กรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ มาตรา 27, 28 และ 29 พิจารณาไม่ต่ออายุใบอนุญาตพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสได้ เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในกรณีไม่ให้ใบอนุญาตสารเมโทมิล และคาร์โบฟูรานที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายลดการใช้สารเคมีปีละ 5% ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อีกด้วย” ผู้ช่วยเลขาธิการ มพบ.กล่าว