ผู้บริโภค ร้อง ‘บิ๊กซี’ แสดงความรับผิดชอบ เหตุขายไข่หมดอายุ

01

 

จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความของผู้บริโภคในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙  หลังพบว่าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล ๓ นำสินค้าหมดอายุแล้ววางขายอยู่นั้น 

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บริโภครายดังกล่าวได้ร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าเขาได้หยิบไข่ไก่จากรถเข็นที่อยู่บริเวณจัดขายสินค้าลดราคา ซึ่งมีป้ายลดราคาสินค้าแปะอยู่ และได้มองหาวันหมดอายุที่ตัวสินค้า เมื่อไม่พบ จึงลองแกะป้ายราคาออก ทำให้พบว่าป้ายลดราคานั้นแปะทับป้ายแสดงวันหมดอายุ ทั้งยังพบว่าสินค้าหมดอายุมาแล้ว ๒ วัน ผู้บริโภคคนดังกล่าวจึงต้องการออกมาเตือนผู้บริโภคและต้องการให้ห้างฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นางนฤมล กล่าวว่า การปิดป้ายลดราคาทับสาระสำคัญของสินค้า เช่น วันหมดอายุ อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าสินค้านั้นเป็นปัจจุบัน ซึ่งสินค้าเกษตร เป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพเร็ว ต้องมีการจัดทำฉลากที่ต้องแสดงวันผลิตและวันหมดอายุให้เป็นที่สังเกตและอ่านได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้อย่างถูกต้อง จึงไม่ควรติดป้ายราคาทับป้ายดังกล่าว ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่สินค้าประเภทอาหารที่ลดราคาก็เพื่อเร่งระบายสินค้าออกสู่ผู้บริโภค การแสดงวันหมดอายุก็เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคตัดสินใจได้ว่าจะซื้อสินค้าไปบริโภคทันหรือไม่ เป็นต้น

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวต่อไปว่า ผู้บริโภครายนี้ให้ข้อมูลว่าสินค้าดังกล่าววางอยู่ในรถเข็นบริเวณที่จัดแสดงสินค้าลดราคา ซึ่งรถเข็นที่บรรจุสินค้านั้นอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้คือ ไม่รู้ว่าห้างฯ กำลังจะนำสินค้ามาจัดเรียงใหม่ หรือกำลังจะจัดเก็บสินค้าออกจากพื้นที่ หากเป็นการจัดเก็บสินค้าออกจากพื้นที่ควรดำเนินการก่อนห้างฯ เปิดทำการ เพราะการตั้งทิ้งไว้ ทำให้ไม่ทราบว่ามีเจตนาอย่างไร ซึ่งกรณีเช่นนี้ หากมีผู้บริโภคที่เข้าใจผิดซื้อสินค้าไปแล้วห้างฯ ควรมีมาตรการเยียวยาผู้บริโภค

“บิ๊กซีควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะห้างมีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย ควรมีมาตรฐานในการควบคุมสินค้า และเมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ รวมถึงควรออกมาแสดงความรับผิดชอบกับคนที่ซื้อสินค้าไปแล้ว คือเราต้องการให้มีการจัดการเรื่องนี้มากกว่าการออกมากล่าวแค่คำว่าขอโทษ” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว

นางนฤมล ให้ความเห็นว่า หากผู้บริโภครายใดซื้อสินค้าประเภทเดียวกันนี้จากห้างฯ ดังกล่าวไปแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยินดีให้ความช่วยเหลือดำเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในการซื้อสินค้า ผู้บริโภคควรตรวจสอบป้ายราคา วันที่ผลิตสินค้า และวันหมดอายุ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อด้วย

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ ระบุว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยคือ อาหารที่หมดอายุ ซึ่งการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ เป็นการกระทำผิดตามมาตรา ๒๕ (๔) คืออาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำและปรับ 02

พิมพ์ อีเมล