ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ กล่าวในเวทีวิชากร “8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าตนผู้ใช้กฎหมายวิฯ คดีแรกฟ้องสายการบินนกแอร์ และท่าอากาศยานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรวจอาวุธผู้โดยสาร เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2551 ซึ่งได้เดินทางโดยสารกับสายการบินนกแอร์ เส้นทางบินจากนครศรีธรรมราช ปลายทางกรุงเทพฯ เวลา 17.05 น. ซึ่งได้รับคำตอบกรณีไม่มีการตรวจค้นตัวผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องว่า จากเจ้าหน้าที่ว่าถูกหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอยืมไป ถามเจ้าหน้าที่ต่อไปว่าแล้วอุปกรณ์ที่เป็นไม้ตรวจไม่มีหรือ เจ้าหน้าที่คนเดิมตอบว่า ถูกขอยืมไปเหมือนกัน
“ผมตัดสินใจยื่นฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นประโยชน์สาธารณะ และยื่นฟ้องด้วยตัวเองโดยไม่ใช้ทนายมีเจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้เขียนคำฟ้องให้ พร้อมทั้งขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉินขอให้ตรวจระเบิดก่อนถึงจะให้เครื่องบินขึ้น ศาลรับฟ้อง และระหว่างการพิจารณาดี ทางจำเลยทั้งท่าอากาศยานและนกแอร์ได้ซักถามข้อเสียหายต่างๆ ศาลได้ให้ทั้งสองจำเลยพิสูจน์ความเสียหายดังกล่าวเอง เพราะภาระการพิสูจน์อยู่กับจำเลยที่ถูกฟ้องคดีซึ่งถือเป็นข้อดีของศาลอีกอย่าง
ผลการพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชนะคดี โดยเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ให้นกแอร์เยียวยา 50,000 บาท แต่นกแอร์ได้ยื่นอุทธรณ์ ในชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยให้ความเห็นว่ายังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ผมจึงยื่นฎีกา แต่เมื่อราวๆ 5 เดือนที่ผ่านมาศาลฎีกาไม่รับฎีกา ด้วยเหตุว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จนตอนนี้ผมได้ทำหนังสือเพิ่มขอให้ศาลทบทวน” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ได้สะท้อนความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าสังคมไทย ไม่ได้สนใจความเสียหายในลักษณะนี้ ต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อน
“ส่วนตัวผมนั้นได้คิดค่าเสียหายมาหมดแล้วทั้งค่าเสียโอกาสทั้งหน้าที่การงาน ค่าขาดไร้อุปการะกับครอบครัว ความเสี่ยงด้านการตาย ซึ่งได้คำนวณออกมาแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะยังไม่เกิดการตายเกิดขึ้น” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
ด้านนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า 8 ปี ที่มีการประกาศใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2551 ว่าฟ้องคดีผู้บริโภครวม 289 คดี แบ่งออกเป็น กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ 183 คดี กลุ่มประกันภัย 52 คดี กลุ่มบริการสุขภาพ 8 คดี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 12 คดี กลุ่มมาตรฐานสินค้า 11 คดี กลุ่มโทรคมนาคม 8 คดี กลุ่มคุณภาพบริการ 11 คดี กลุ่มสัญญาเช่าซื้อ 3 คดี และกลุ่มการเงินการธนาคาร่ 1 คดี
“คดีผู้บริโภคนั้นถึงที่สุดแล้วก็ต้องสู้กันถึง 3 ศาล แต่การใช้คดีผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างมากเช่นกันเห็นได้ชัดในกลุ่มของกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ที่สามารถเยียวยาให้กับผู้บริโภคได้ หากฟ้องเป็นคดีแพ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมปัญหาของการใช้กฎหมายที่พบว่าในทางปฏิบัติยังพบข้อจำกัดที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของศาล อาทิ การใช้เวลานานในการพิจารณาคดี และยังมีการเรียกค่าส่งหมายนัด ผู้บริโภคยังจำเป็นต้องใช้ทนายในการดำเนินคดี ยังมีปัญหาในการตีความเรื่องคดีผู้บริโภค จึงอยากให้ศาลมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกฎหมายตามเจตนารมณ์มากยิ่งขึ้น” นายคงศักดิ์กล่าว