อย่ายอมจ่ายค่าทำบัตรใหม่ของรถไฟฟ้าใต้ดิน

buying ticket area at mrt
จากกรณีที่รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT เปิดให้เปลี่ยนบัตรโดยสารแบบเติมเงินใหม่ฟรีจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนนั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวใน Facebook Live ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่ารถไฟฟ้าใต้ดินติดประกาศให้ผู้โดยสารไปเปลี่ยนบัตรโดยสารแบบใหม่  แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว หากไปเปลี่ยนบัตรจะต้องถูกหักค่ามัดจำบัตร ๕๐ บาท แล้วยังต้องเสียค่ามัดจำบัตรใหม่อีก ๕๐ บาท รวมแล้ว ๑๐๐ บาท ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

“ฉะนั้น หากใครต้องทำบัตรใหม่ ขอแนะนำว่าอย่ายอม เหตุผลที่เราไม่ยอม คือ บัตรเดิมยังใช้งานได้อยู่” นางสาวสารี กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการชำรุดของบัตรนั้น เลขาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า บัตรอื่นอย่างบัตร EASY PASS ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแม้งอ ยังสามารถใช้การได้อยู่ ขณะที่บัตรรถไฟฟ้าใต้ดิน แม้เพียงขอบพลาสติกลอกจะถูกตีความทันทีว่า เป็นบัตรชำรุด ทำให้เสียเงินค่ามัดจำบัตร ๕๐ บาท เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องอย่ายอมบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่กำลังเอาเปรียบผู้บริโภค

นางสาวสารี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายถึง ๓ หน่วยงาน คือ BEM คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก ๒ หน่วยงานหลัง โดยเสนอต่อประธานกรรมการ รฟม.ว่าขอให้ยกเลิกการเปลี่ยนแปลงบัตร โดยที่ผู้บริโภคไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางมูลนิธิฯ หวังว่าประธานกรรมการฯ จะยอมดำเนินการที่ไม่เรียกเก็บเงินต่อผู้บริโภค และขอให้ยกเลิกภาระที่ผลักให้ผู้บริโภค อย่างกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นตัวอย่าง

“ส่วนทางด้าน BEM เราเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงระบบบัตรไม่ควรเป็นภาระของผู้บริโภค และขอให้บริษัทฯ ทำตามเงื่อนไขในการโฆษณา และตีความกรณีบัตรชำรุดต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ใช่แค่พลาสติกลอกเพียงเล็กน้อย แล้วบอกว่าเป็นบัตรชำรุด หรืออ้างว่าต้องเอาบัตรไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร”

นางสาวสารี เล่าว่า บริษัท BEM ตอบหนังสือกลับมาว่า ทางบริษัทฯ ยังยืนยันที่จะเปลี่ยนบัตรแต่มูลนิธิฯ คิดว่ายังควรที่จะใช้บัตรเดิมได้อยู่ คือคนที่ใช้บัตรเดิมได้ ก็ควรที่จะใช้บัตรเดิม เพราะขณะนี้มีผู้ใช้รถไฟฟ้าถึง ๗ ล้านคน หากต้องเสียค่ามัดจำบัตรเก่า ๕๐ บาท กับค่าทำบัตรใหม่อีก ๕๐ บาท รวมเป็น ๑๐๐ บาท ทางบริษัทฯ จะได้รับเงินไป ๗๐๐ ล้านบาทโดยทันที ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภค จึงยืนยันว่าไม่จำเป็นที่ผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการ

“ในหนังสือ ที่บริษัทฯ ตอบมาก็ไม่ได้สนใจถึงปัญหาของผู้บริโภคเลย บริษัทฯ กำลังแสวงหารายได้จากสิ่งที่บริษัทฯ ไม่ควรจะได้ ฉะนั้นทาง รฟม. ต้องลงไปกำกับดูแล เมื่อบีทีเอสจัดการได้ ทาง รฟม. ก็ต้องให้ BEM จัดการได้เหมือนกัน ไม่ใช่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค”

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า หากใครถูกเรียกเก็บเงินอย่ายอม หรือสามารถพูดคุยกับทางมูลนิธิฯ ได้ ทาง www.facebook.com/fconsumerthai หรือโทร. ๐๒ - ๒๔๘ - ๓๗๓๗ หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. อย่ายอมกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการที่ไม่จำเป็น และหวังว่าจะมีท่าทีจาก รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะช่วยดูแลผู้บริโภคในกรณีนี้ โดยที่ผู้บริโภคต้องช่วยกันพิทักษ์สิทธิของตัวเอง อย่ายอมให้บริษัทหาผลกำไรโดยที่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล