คอบช. เสนอ ‘BEM’ เลิกเก็บค่าเปลี่ยนบัตรโดยสาร เหตุผู้บริโภคเสียหายนับร้อยล้านบาท พร้อมร้อง รฟม.ตรวจสอบการเก็บค่าบริการไม่จำเป็น แนะ สคบ. จัดการ ถ้าไม่ทำตามโฆษณา
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ติดตามสถานการณ์ของผู้บริโภค กรณีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ออกประกาศเชิญชวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ให้นำบัตรโดยสารชนิดเติมเงินรูปแบบเก่าทุกประเภทมาเปลี่ยนเป็นบัตรโดยสารรูปแบบใหม่ โดยมอบสิทธิพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมการออกบัตร พร้อมโอนค่ามัดจำบัตรและมูลค่าเดินทางให้ทันที ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง 30 มิถุนายน59 ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี สำหรับผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารชนิดเติมเงินรูปแบบเก่าทุกประเภทจะใช้เดินทางได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 59 เท่านั้น
กรณีนี้ พบว่ามีผู้บริโภคร้องเรียน คอบช.ว่าหลังจากมีการออกประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ได้ไปขอเปลี่ยนบัตรตามโฆษณาที่เห็นในสถานีรถไฟฟ้า "ฟรีค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่" พร้อมโอนค่ามัดจำ และมูลค่าเงินในบัตรใบเก่าไปใบใหม่ให้ด้วย แต่พนักงานสถานีสวนจตุจักร บอกว่าบัตรเก่า "ชำรุด" เพราะฉะนั้นต้องจ่าย "ค่ามัดจำบัตรใบใหม่" 50 บาท เท่ากับต้องเสียเงิน 100 บาท คือค่ามัดจำใบเก่า 50 บาท ไม่ได้คืน และต้องจ่ายมัดจำใบใหม่อีก 50 บาท
กรณีดังกล่าว ผู้ร้องเรียนมองว่า ในส่วนค่ามัดจำนี้ก็คงไม่ได้คืน เพราะทุกบัตรคงถูกพิจารณาว่าชำรุดทั้งสิ้น เนื่องจากบัตรของผู้ร้องเรียน มีพลาสติกถลอกตรงมุมขวาเพียงนิดเดียว ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร พนักงานยังถือว่าเป็นบัตรชำรุด ทั้งที่บัตรยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งจากเรื่องที่เกิดขึ้น เห็นว่าการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวของ BEM ไม่เป็นธรรม จึงไม่ได้เปลี่ยน และได้มาร้องเรียน คอบช.
คอบช. เห็นว่าเรื่องนี้ ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคที่ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เป็นจำนวนมาก และจะเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคนับร้อยล้านบาท เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ในแต่ละเดือนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน ดังนั้น คอบช.จึงมีข้อเสนอและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และบริษัท BEM ดังนี้
1. ขอให้ รฟม.ยกเลิกการเปลี่ยนแปลงระบบบัตรใหม่ในการใช้งานรถไฟฟ้าของ บริษัท BEM และไม่ควรผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค โดยบัตรโดยสารใหม่ที่ BEM นำมาใช้ให้บริการกับผู้บริโภค เป็นบัตรที่มีเทคโนโลยีประเภทเดียวกันกับบัตรระบบ MRT เดิม จึงไม่ควรสร้างอุปสรรคในการใช้งานให้กับผู้บริโภค เนื่องจากเป็นบัตรของบริษัทเดียวกัน ที่ทำขึ้นโดยใช้หลักการทำงานเดียวกัน ดังนั้น ไม่ควรยกเลิกบัตรเดิมหรือให้ผู้บริโภคต้องนำบัตรเดิมไปเปลี่ยนเป็นบัตรใหม่ โดยสามารถอัพเกรดบัตรเดิมเพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง เหมือนกรณีบัตร SMART Pass ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ที่ถึงแม้จะมีบัตร RABBIT Pass แบบใหม่ เพราะหากในอนาคตมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาต้องเปลี่ยนแปลงบัตรอีกในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้คณะกรรมการของ รฟม.ทบทวนระบบการเปลี่ยนบัตรดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ผู้บริโภค ยกเว้นการทำบัตรใหม่ของผู้บริโภคที่ยังไม่เคยใช้งาน
2. ขอให้ รฟม.กำกับให้บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขในการโฆษณา การโฆษณาของบริษัท BEM ที่แจ้งว่า "ฟรีค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา แต่พบว่า เมื่อผู้บริโภคนำบัตรไปเปลี่ยน มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการโฆษณาและเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงขอให้บริษัท BEM ปฏิบัติตามการโฆษณาดังกล่าว
3. ยกเลิกการตีความกรณีบัตรชำรุดไม่เป็นธรรม เนื่องจากการเรียกเก็บค่าบัตรชำรุด กรณีบัตรยังสามารถใช้งานได้อยู่คอบช. เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะตามกฎหมาย คำว่า “ชำรุด” คือบัตรไม่สามารถใช้งานได้โดยปกติ หรือโดยสัญญา และอาจหมายถึงบัตรมีสภาพ แตก หัก งอ ลบ เลือน หรือแถบข้อมูลไม่สามารถอ่านได้ ซึ่งหากเป็นกรณีเพียงแถบพลาสติกของบัตรลอกออก อันเกิดจากการใช้งานปกติ โดยที่แถบข้อมูลของบัตรไม่เสียสภาพ และยังใช้งานได้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีบัตรชำรุด ที่ทำให้มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าบัตรชำรุด และในกรณีนี้ คอบช. จึงขอเสนอให้ BEM ยุติการเรียกเก็บค่าบัตรชำรุด โดยไม่เป็นธรรม และควรชี้แจงต่อสาธารณะในเรื่องการเก็บค่ามัดจำบัตรใหม่ รวมถึงพนักงานควรแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ เพราะที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่า ไม่มีพนักงานแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้โดยสารทราบ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ทราบจากการอ่านป้ายโฆษณาเอง
4. ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบและกำกับบริษัทให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการโฆษณา การโฆษณาของบริษัท BEM ที่แจ้งว่า "ฟรีค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา แต่พบว่า เมื่อผู้บริโภคนำบัตรไปเปลี่ยน มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการโฆษณาและเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงขอให้ตรวจสอบและกำกับให้บริษัท BEM ปฏิบัติตามการโฆษณาดังกล่าว และแก้ไขการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวให้มีข้อความถูกต้องครบถ้วน ตรงกับความเป็นจริง รวมถึงให้รายละเอียดเตือนผู้บริโภคถึงผลกระทบให้ชัดเจน กรณีไม่ได้มาทำบัตรใหม่ ในกำหนดเวลาดังกล่าว