มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจับมือรสนาชวนจับตา มติครม. วันพรุ่งนี้(24 พ.ค.) ว่าจะเห็นชอบให้การทางพิเศษส่งฟ้องศาลปกครองหรือไม่ ก่อนที่ผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าทางด่วนเพิ่มอีกไม่น้อย 15 บาท และรัฐต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 8,100 ล้านบาทในปี 2559 หรือไม่น้อยกว่า 29,000 ล้านบาทตลอดสัญญาสัมปทาน
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า สหภาพรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษ ฯ (สร.กทพ.) ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยหลังอนุญาโตตุลาการ สั่งให้ กทพ. จ่ายเงินบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM จำนวน 8,100 ล้านบาท จากกรณีการตีความการขึ้นค่าผ่านทางที่แตกต่างกัน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า กรณีนี้ยังไม่ใช่การวินิจฉัยเป็นที่สุด ที่หน่วยงานรัฐต้องรีบจ่ายค่าโง่ เพราะจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับแนวทางการตีความของเอกชนในการปรับขึ้นอัตราค่าบริการกับผู้บริโภคให้กับหน่วยงานรัฐหลังจากนี้อีกมากที่นอกจากทำให้เสียค่าโง่โดยไม่จำเป็นแล้ว ที่สำคัญจะส่งผลต่อภาระของผู้บริโภคในการต้องจ่ายค่าทางด่วนมากขึ้นถึง 15 บาทหากปฏิบัติตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ มูลนิธิ ฯ ขอให้จับตามติครม. พรุ่งนี้ว่าจะเอื้อต่อบริษัทเอกชนจนเกินเลยประโยชน์ของสาธารณะ หรือไม่
นอกจากนี้นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตประธานกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยังได้เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการอนุญาตให้การทางพิเศษส่งเรื่องนี้ให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัย แทนที่จะยอมจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยที่บริษัทได้ประโยชน์เกินเลยขอบเขตของสัญญาสัมปทาน
นอกจากนี้ อดีตประธานกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภายังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในการทำสัญญากับเอกชน เพราะที่ผ่านมาระบบอนุญาโตตุลาการทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่อย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด