มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่อนจดหมายถึง เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต เหตุขายเครื่องสำอางของเล่นเด็กหมดอายุ 2 ปี พร้อมส่งให้ อย.พิจารณาสินค้านำเข้าเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ หากเข้าข่ายมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ภายหลังจากซื้อของเล่นเด็กจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต นนทบุรี แล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุนั้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ผู้ร้องได้ซื้อของขวัญให้กับลูกสาวเป็นชุดตลับแต่งหน้า ของเล่นเด็ก ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอาง ยี่ห้อ Barbie จากแผนกของเล่นเด็ก ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต นนทบุรี ในราคา 995 บาท จากราคาเต็ม 1,900 กว่าบาท จากนั้นจึงนำมาให้ลูกสาว เล่นแต่งหน้าตัวเอง
“ผู้ร้องเห็นว่าซื้อสินค้าจากห้างดัง จึงไม่ได้ตรวจสอบอะไรมาก ดูเพียงว่าสินค้าอยู่ในสภาพดีเท่านั้น แต่เมื่อแกะกล่องพบว่าสินค้าชิ้นนี้ผลิตตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2555 และระบุให้ใช้งานก่อนเดือนมกราคม 2557 ซึ่งเขารู้สึกตกใจมาก เพราะนับจากวันที่ซื้อ สินค้าหมดอายุมาเกือบ 2 ปีแล้ว จึงต้องรีบเก็บสินค้าไม่ให้ลูกเล่นทันที แต่ไม่รู้จะร้องเรียนใคร เพราะไม่รู้ว่าเป็นของเล่นเด็ก หรือว่าเครื่องสำอาง” นางนฤมล กล่าว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า สินค้าดังกล่าวมีการโฆษณาและแนะนำใน www.youtube.com ว่าใช้ในการแต่งหน้าเด็ก ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเครื่องสำอาง แต่ไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับไว้ที่ข้างกล่องเท่านั้น ทั้งยังพบว่าสินค้านั้นหมดอายุแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กอย่างมาก
“การนำเข้าสินค้าของเล่นเด็กชนิดนี้ หากบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องมีการดำเนินการจดแจ้งกับ อย.ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ซึ่งหากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากผู้นำเข้าขายสินค้าหมดอายุมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หากดูข้อมูลการนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วก่อนการนำเข้า ซึ่งมูลนิธิฯ ขอตั้งคำถามกับหน่วยงานออกมาตรฐานสินค้าของเล่นเด็กว่า สินค้านั้นได้รับมาตรฐานของเล่นเด็กได้อย่างไร ทั้งที่สินค้านั้นหมดอายุแล้ว” นางนฤมล กล่าว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวว่า ขณะนี้มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายให้ห้างสรรพสินค้า ผู้นำเข้าสินค้าแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงให้ อย.พิจารณาว่าเข้าข่ายเครื่องสำอางหรือไม่ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาเรื่องฉลากภาษาไทยที่ไม่ตรงกันกับภาษาอังกฤษ รวมถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดูเรื่องมาตรฐานของสินค้า
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำว่า เพื่อป้องกันปัญหาก่อนผู้บริโภคซื้อสินค้าควรตรวจสอบตั้งแต่วันผลิต วันหมดอายุ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ และยิ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเด็ก ผู้ปกครองควรตรวจสอบให้ละเอียด ก่อนให้ลูกนำไปเล่น หรือแต่งหน้า เพราะอาจมีสารเคมี ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ รวมถึงหากผู้บริโภคพบว่าสินค้าหมดอายุให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบหรือแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้