เครือข่ายเหยื่อรถโดยสารสาธารณะ นักวิชาการ ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งปรับมาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มวงเงินชดเชยเยียวยา หยุดการตาย ลดความสูญเสียในทุกเส้นทาง ชี้ต้องเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนเป็นกรรมการชุดต่างๆเพื่อสะท้อนปัญหาและออกระบบเบียบต่างๆได้อย่างตรงจุด
วันนี้ (15 พ.ย. 58 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากใช้บริการรถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัย เครือข่ายผู้บริโภค ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ร่วมจัดเวที “สภาผู้บริโภควันเหยื่อโลก กับ โอกาสยกระดับความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ (It's time to remember - say NO to Road Crime!)” เพื่อรวบรวมปัญหาและระดมความคิดเห็นต่างๆ ของผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหาย นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานความคุ้มครองและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ จากสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะที่เกิดขึ้น พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
นางอานุด อยู่สุภาพ ตัวแทนผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารเปรมประชาขนส่ง พลิกคว่ำเกือบตกเหวที่อำเภอฮอด เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ลูกชายของตนได้รับบาดเจ็บสาหัส และผู้โดยสารคนอื่นบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก
“หลังเกิดเหตุ เราทราบว่ารถคันนี้ไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจ และบริษัทยังอยู่ระหว่างการถูกฟ้องล้มละลาย ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด พวกเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เราไม่รู้ว่าบริษัทแบบนี้ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกมาได้อย่างไร แถมเมื่อเกิดเหตุแล้วบริษัทก็ไมได้พยายามที่จะมาเจรจาเพื่อจ่ายค่าเสียหายให้กับพวกเราเลย กลับต่อรองจ่ายเงินให้กับเราเหมือนเรามาขอเงินเขา จนสุดท้ายพวกเราต้องฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้สืบพยานเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างรอศาลพิพากษา... พวกเราบอกได้เลยว่า เราไม่มีทางเลือก เส้นทางนี้มีแต่รถบริษัทเปรมประชาขนส่งเพียงรายเดียว รถเก่าแค่ไหนเราก็ต้องขึ้น เราต้องเดินทาง พวกเราต้องเสี่ยงชีวิตทุกวัน” นางอานุด กล่าว
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเยียวยาผู้ประสบเหตุว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัยภาคบังคับ) ค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตไม่เกิน 200,000 บาท ยังเป็นจำนวนเงินที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีที่บาดเจ็บร้ายแรงหรือเสียชีวิต
“ทางออกในกรณีนี้คือ การเพิ่มวงเงินความคุ้มครองค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาลตามจริงเป็นเงินไม่เกิน 150.000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยต้องแยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต และ ทุพพลภาพ ออกจากค่ารักษาพยาบาล รวมถึงปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองประกันภัยภาคสมัครใจสำหรับอุบัติเหตุสำหรับรถโดยสารสาธารณะกำหนดไว้ที่ 10 ล้านบาท ต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง เนื่องจากพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่มีผู้ประสบเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก วงเงิน 10 ล้านบาท จะไม่เพียงพอกับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งระบบประกันภัยอุบัติเหตุในปัจจุบันควรต้องได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องและครอบคลุมสิทธิของผู้ประสบเหตุอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ” ดร.สุเมธ กล่าว
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลคือ การนำรถโดยสารสาธารณะมาให้บริการ หากเป็นรถโดยสารที่ไม่มีคุณภาพ สภาพชำรุดบกพร่อง คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง หรือมีคนขับเพียงคนเดียว ก็จะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ และความรุนแรงได้
“เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกครั้งเกิดจากปัญหาของโครงสร้างรถไม่ได้มาตรฐานเวลาเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความเสียหายรุนแรงต่อผู้โดยสาร ความเสี่ยงในเรื่องของการเลือกใช้เส้นทางไม่เหมาะสมและโดยเฉพาะความเสี่ยงจากพนักงานขับรถ เช่น ขับรถด้วยความเร็ว ไม่ชำนาญทาง หลับใน เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีการแก้ไขจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย มีระบบประเมินและตรวจสอบผู้ประกอบการเดินรถ การติดตั้งระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท รวมทั้งมีมาตรการให้บริษัทที่เกิดเหตุบ่อยๆ มีการปรับปรุงแผนด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนต่อสาธารณะอย่างจริงจัง และถ้าพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ควรหยุดปรับปรุงและมีการนำรถที่ปลอดภัยมาให้บริการทดแทน” นายแพทย์ กล่าว
รศ.ดร จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะในบ้านเราถึงขั้นวิกฤตแล้ว เพราะมีรถโดยสารสาธารณะเกิดเหตุอยู่เกือบทุกวัน มีคนบาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลสถิติของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2558 พบว่า เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ 206 ครั้ง เสียชีวิตไปแล้วกว่า 149 คน มีผู้บาดเจ็บหรือพิการมากถึง 2,188 คน
“ข้อเสนอของผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและประเมินคุณภาพการให้บริการรถโดยสารเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการมีส่วนร่วมในการออกกฎหรือระเบียบในการขอต่ออายุใบอนุญาตของผู้ประกอบการ โดยให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการในท้องถิ่นสนับสนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค และควรมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแล และมีมาตรการลงโทษผู้ประกอบการ กรณีมีอุบัติเหตุซ้ำซาก เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน และกระตุ้นการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง” รศ.ดร จันทร์เพ็ญ กล่าว