เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 57 ในเวทีเสวนาวิชาการบทเรียนการทำงานการคุ้มครองผู้บริโภค : อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โดยมีข้อเสนอจากบทเรียนการฟ้องคดีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ควรมีการเพิ่มวงเงินกรณีเสียชีวิตตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจากเดิมจ่าย 200,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท
นอกจากนี้ ควรต้องให้รถทุกคันเพิ่มการทำประกันภัยภาคสมัครใจเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยได้มากขึ้น เพราะมีกรณีตัวอย่างมาแล้วจากบริษัทเปรมประชาที่ไม่มีการทำประกันในส่วนนี้ ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการเดินรถของบริษัทที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับเงินชดเชยเพียง 200,000 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ควรเพิ่มวงเงินประกันภัยสูงสุดของบริษัทประกันจาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท เพราะจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในอุบัติเหตุที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทำให้บริษัทมีวงเงินไม่พอเยียวยาผู้เสียชีวิต จึงต้องหลอกให้ผู้เสียหายเซ็นยอมประนีประนอมเพื่อเฉลี่ยเงินกันไป ทำให้ผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาไม่สอดคล้องกับความสูญเสียที่ได้รับจริง
ประการสุดท้าย นายคงศักดิ์ ระบุว่า อยากให้การฟ้องคดีสู้ศาลมีจำนวนลดลง เพราะในการสู้คดีต้องใช้เวลายาวนานและมีปัจจัยหลายอย่าง โดยไม่ว่าทางบขส. ขสมก. หรือแม้แต่ประกันโดยสมัครใจก็ตามจะระบุว่าจะไม่จ่ายเงินหากคดียังไม่ถึงที่สุด บางคดีใช้เวลา 4-5 ปีแล้วก็ยังไม่จบ จึงอยากเสนอให้มีการเยียวยาผู้ประสบเหตุก่อนตามวงเงินที่เหมาะสม โดยให้มีการจัดตั้งเป็น 'กองทุนคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารสาธารณะ' หากมีตรงนี้น่าจะมีส่วนช่วยเหลือผู้บริโภคที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
'ธีระพงษ์' เน้นอุบัติเหตุลด ด้านผู้เสียหายกังขา 'เยียวยา' ไม่ครอบคลุม
ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นประธานการประชุมวิชาการ 'ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา' ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กล่าวว่า เรื่องการประกันภัยและการชดเชยเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญคู่กับการทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุซึ่งทางกรมขนส่งทางบกจะทำทั้งสองเรื่องให้ได้
"เรื่องใหญ่ของการช่วยเหลือเยียวยาหรือการประกันภัยอยู่ที่ผู้โดยสารยังไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องมีการประกันภัย ต้องช่วยกันพัฒนาองค์วามรู้ด้านนี้ว่า เมื่อเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุต้องทำอย่างไร มีวิธีการดำเนินการอย่างไร หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆต้องจับมือกันเพื่อทำให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว"
สำหรับเรื่องความเหมาะสมของวงเงินที่ควรได้รับการเยียวยา นายธีระพงษ์ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญและมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในเรื่องนี้แต่ก็มีเสียงท้วงมาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของอัตราค่าโดยสารปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพที่ดีหรือมีการคุ้มครองผู้บริโภคได้
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวเน้นว่า สิ่งที่ต้องการคือการลดอุบัติเหตุลงให้ได้มากที่สุดและเริ่มในหลายโครงการเริ่มแล้ว เช่น คนขับรถของบริษัทขนส่ง (บขส.) 155 คัน ได้มีการติดตั้งกล่องดำเหมือนเครื่องบิน เพื่อให้ได้รับรายงานการขับ หรือหนองคายโมเดลที่มีการติดตั้งกล้องจับความเร็วระหว่างการเดินรถเส้นหนองคาย -อุดรธานี รวมทั้งสถานีขนส่งบึงกาฬโมเดลที่จะทำเป็นระบบปิดที่แรกให้เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารแบบเดียวกับสนามบิน
"ปัญหาที่หนักใจที่สุดขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้ระชาชนจะตระหนักเรื่องความปลอดภัยมากกว่าความสะดวกสบาย เราเคยสำรวจความพึงพอใจในการใช้รถเมลล์ คงเดาได้ว้ารถเมล์ยอดแย่ก็คือรถเมล์สาย 8 แต่ข้อเท็จจริงรถเมล์ยอดนิยมก็คือ สาย 8 เช่นกัน เพราะถึงบ้านเร็ว ไม่น่าจะตายเที่ยวนี้นะ เราคิดอย่างนี้นี่คือเรื่องจริงที่เกิดกับวัฒนธรรมในการใช้รถของเรา อยากให้กลุ่มเครือข่ายมาช่วยด้วยในการเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ให้ได้" นายธีระพล กล่าวและยืนยันอีกเรื่องว่า จะพยายามให้รถตู้โดยสารหมดไปให้ได้ด้วยเพราะไม่เหมาะสมในการเป็นรถโดยสารสาธารณะ
สำหรับผลกระทบจากอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ อธิบดีกล่าวว่า เฉพาะด้านเศรษฐกิจมีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 8,000 - 9,000 ล้านบาทต่อปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้โดยสาร ส่วนผู้ประกอบการก็ได้รับความเสียหายด้านธุรกิจซึ่งทางกรมขนส่งฯยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกเครือข่ายและผู้ประกอบ รวมทั้งพร้อมให้เข้าพบและให้ข้อมูลด้านประกันภัยอย่างเต็มที่
ผู้เสียหายกังขา 'เยียวยา' จากรัฐ
จากนั้นได้มีการเปิดเวทีอภิปรายสภาผู้บริโภคเรื่อง 'ความทุกข์ของผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : กระบวนการชดเชยเยียวยาความเสียหาย' โดยมีตัวแทนผู้เสียหายจากทุกภาคมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยประเด็นที่มีเสียงสะท้อนค่อนข้างมากคือการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถสาธารณะโดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง
สมพร รวมมหทรัพย์ ผู้เสียหายจากเหตุการณ์รถทัวร์ตกเหว ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 56 กล่าวว่า กรณีดังกล่าวประเด็นสำคัญคือการตรวจเช็คสภาพรถ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือคนที่ได้รับบาดเจ็บไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร บางรายเจ็บมากและเป็นผู้สูงอายุ หรือบางรายเดินไม่ได้เหมือนเดิมทำงานได้ไม่เต็มที่จึงต้องได้รับการรักษาและดูแลเยียวยาต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าไม่ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่าที่ควร
"ครั้งแรกเมื่อเกิดเหตุ ชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย ส่วนใหญ่คือมีการให้เซ็นประนีประนอมยอมความ แม้ว่ากรณีของผู้เสียชีวิตจะมีการจ่ายเต็มจำนวน แต่ที่ร้องเรียนมากคือผู้บาดเจ็บ บางคนได้รับเงินแค่ 9,000 บาท หลังยอมความ ในขณะที่เขาบาดเจ็บมากและมีเงินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯ 150,000 บาท"
นอกจากนี้ ผู้เสียหายคนเดิมยังกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวไม่มีหน่วยงานใดหรือภาคประกันภัยมาให้ดูแลในการใช้สิทธิเมื่อจะรักษาต่อเนื่อง โดยพยาบาลจะบอกเกินวงเงินประกันแล้วก็ตัดไปใช้สิทธิ 30 บาททันที
"ความรู้ความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คปภ. ดูเหมือนจะเข้าข้างผู้ประกอบการ ควรจะให้ข้อมูลที่เป็นกลาง กรณีวังเหนือเราเคยขอไม่เซ็นเพราะเกรงว่าจะมีผลต่อการฟ้องร้องหลังจากนี้ หัวหน้าคปภ.ยืนยันว่าเซ็นไป กลับมาฟ้องได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าประกันภัยแอบแนบเอกสารยอมความไปด้วยไหม วันนั้นคนจะไม่เซ็นกันเยอะ แต่เอกสารมาเป็นปึกๆ ภายหลังเรามาเจอมีเซ็นยอมความตรงนี้ไปโดยเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้อ่านเอกสาร กระบวนการเซ็นจึงไม่ค่อยโปร่งใส" ผู้เสียหายรายเดิมกล่าว ในขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้เสียหายรายอื่นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีข้อเสนอให้เพิ่มวงเงินในการประกันเพื่อให้การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถครอบคลุมความเสียหายได้จริงด้วย
คปภ.แจง 'บาดเจ็บ' ประเมินชดเชยยาก
ด้านตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. โคราช กล่าวถึงกรณีการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุใหญ่ ว่า ในกรณีที่มีการเสียชีวิต คปภ.ได้เข้าไปดูแลเพื่อให้ทางบริษัทประกันจ่ายตาม พรบ.คุ้มครองฯ เต็มจำนวน แต่บางกรณียังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากเป็นการบาดเจ็บที่มีไม่เท่ากัน เรื่องค่ารักษาพยาบาลจึงสรุปไม่ได้ เท่าที่ทราบเกี่ยวกับกรณีที่เชียงใหม่ กรณีเสียชีวิตเข้าใจว่าจ่ายครบ แต่กรณีบาดเจ็บยังไม่สามารถยุติกันได้ ประเด็นคือการประกันตาม พรบ. คุ้มครองฯ มีความคุ้มครองต่ำแต่มีความเสียหายมาก บางกรณีเรียกร้องจนเต็มความคุ้มครองของประกันแล้ว ซึ่งในเรื่องค่ารักษาพยาบาลกรณีนี้ คปภ.ไม่สามารถเรียกร้องต่อบริษัทประกันได้ ต้องเป็นคดีแพ่งที่ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องเองกับบริษัทรถ
"โดยปกติในอุบัติเหตุใหญ่ เราจะให้บริษัทประกันของรถสาธารณะแจ้งไปทางโรงพยาบาลว่าใครมีสิทธิอะไรเท่าไหร่ ให้ดูแลตามวงเงินก่อนจากนั้นเมื่อเต็มแล้วจึงไปใช้บัตรทอง เราดูแลแค่เรื่องประกันภัยให้ดูแลตามวงเงิน หากฟ้องร้องต่อต้องไปฟ้องร้องที่บริษัทเจ้าของรถ ส่วนในกรณีบาดเจ็บเราดูตามอาการซึ่งมีไม่เท่ากัน การได้ค่ารักษาจึงไม่เท่ากันและมีการฟ้องร้องตามมา" ตัวแทน คปภ. โคราชกล่าว