ศาลปกครอง ลงดาบ! สนง.เขตปทุมวัน-กทม. สั่งรื้อถอนอาคารสูงภายใน 60 วัน เหตุกระทบชุมชนร่วมฤดี
ศาลปกครองสูงสุด ชี้สำนักงานเขตปทุมวัน-กรุงเทพมหานครผิด กรณีอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงในซอยถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว สั่งรื้อถอนอาคารสูงไม่ให้เกิน 10,000 เมตร เหตุกระทบชุมชนร่วมฤดี ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น
วันนี้ (2 ธ.ค.) ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งสิ้น 24 ราย ได้มอบอำนาจให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปุทมวัน ต่อศาลปกครอง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สิน โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว และกล่าวได้ว่า การต่อสู้ของประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"
ด้าน น.พ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมกรณีการสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวนั้นขัดกับกฎ กระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน “กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ พึงสังวรณ์ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น”