เตือนภัยการเดินทางช่วงปีใหม่ อันตรายหากไม่ให้เด็กใช้คาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก

ข่าวเตือนภัยเด็กใช้คาร์ซีท 01

ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เตือนภัยก่อนการเดินทางช่วงปีใหม่ เด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบต้องใช้คาร์ซีทหรือที่นั่งนิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ให้กระเด็นออกจากรถ ถอดบทเรียนอุบัติเหตุรถพ่วงเบียดรถเก๋ง จนแม่ลูกกระเด็นออกจากรถ

          จากกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกพ่วง 22 ล้อ เสียหลัก หักเลี้ยวมาเลนขวากะทันหัน บริเวณพ่วงจึงส่ายมาฟาดรถเก๋งสีดำ จนรถกระแทกกับแบริเออร์กลางถนน แม่และเด็กกระเด็นออกมาจากรถที่สภาพพังเสียหาย เด็กอาการสาหัส เหตุเกิดบนถนนกาญจนาภิเษก มุ่งหน้าพระราม 2 นั้นเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงอย่างกว้างขวาง และมีความกังวลกับเด็กที่อยู่ภายในรถ

          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่จะมีการเดินทางออกต่างจังหวัดกันมากขึ้น ผนวกกับที่มีข่าวอุบัติเหตุรถบรรทุกพ่วงเบียดรถเก๋งกระแทกกับแบริเออร์กลางถนน จนทำให้แม่และเด็กกระเด็นจากรถ บ้านเรามีกฎหมายการใช้เข็มขัดนิรภัย เพื่อปกป้องผู้โดยสารและผู้ขับให้ตัวติดกับรถยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และใช้โครงสร้างรถยนต์ช่วยป้องกันได้ แต่สำหรับเด็กที่ยังอายุไม่ถึง 9 ขวบจะใช้เข็มขัดนิรภัยไม่ได้ หากไม่ใช้คาร์ซีท (Car seat) หรือที่นั่งนิรภัยจะเกิดอันตราย ในกรณีนี้เพื่อความปลอดภัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 9 ขวบ ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย โดยที่จะแบ่งตามอายุของเด็ก ต้องเลือกขนาดที่เหมาะสม ตามหลักการ อายุต่ำกว่า 2 ขวบจะให้ใช้ที่นั่งนิรภัยติดไว้อยู่ที่เบาะหลัง หันหน้าไปทางด้านหลังรถ เมื่ออายุ 2 ขวบก็จะใช้ที่นั่งนิรภัยของเด็กเล็ก ติดนั่งนิรภัยที่เบาะหลัง หันหน้าไปทางด้านหน้ารถ ซึ่งเบาะหลังเป็นที่ๆ ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี การใช้ที่นั่งนิรภัยในเบาะหน้าของเด็กเล็กมีอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากตัวถุงลมนิรภัยที่ระเบิดออกมาแล้วไปอัดกับตัวเด็ก เด็กที่จะนั่งเบาะหน้าข้างคนขับได้อย่างปลอดภัยจะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป ตามสถิติของการเสียชีวิตของเด็กที่นั่งข้างคนขับ ส่วนในกรณีที่แม่อุ้มเด็กไว้กับตัว ไม่ว่าจะนั่งหน้าหรือนั่งหลังล้วนมีอันตรายทั้งสิ้น แม่อาจจะคิดว่าสามารถกอดรัดลูกไว้ได้ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแรงกระแทกจะมากกว่าที่คาดคิด แม้แต่แม่เองก็ไม่อาจที่จะดูแลตัวเองได้ ดังนั้นการยึดด้วยเข็มขัดนิรภัยทั้งแม่และลูก โดยแยกออกไปใช้ที่นั่งนิรภัย เป็นวิธีการนั่งที่ถูกต้องและปลอดภัยที่สุดสำหรับรถยนต์

นพ อดิศักดิ์ 01

Tags: อุบัติเหตุ, ที่นั่งนิรภัย

พิมพ์ อีเมล