มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจงผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธ กรณีประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ส่ง SMS มัดมือชกเปลี่ยน - เลิกสัญญา เสนอ คปภ. ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทประกันภัยที่ส่งข้อความในเชิงบังคับทำให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจผิดและหลงเชื่อยอมเปลี่ยนสัญญา
จากการที่บริษัทเดอะวันประกันภัย ส่ง SMS ถึงผู้บริโภคให้เลือกเปลี่ยน - เลิกสัญญาประกัน “เจอ จ่าย จบ” นั้น
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2564) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะปฏิเสธในสิ่งที่บริษัทประกันฯ เสนอมาเนื่องจาก
1. ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียนว่าอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกรมธรรม์ได้
2. หากเงื่อนไขในกรมธรรม์ทำให้ผู้เอาประกันได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าเดิม เช่น การจ่ายเฉพาะภาวะโคม่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ซื้อแบบเจอจ่ายจบ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนแล้วการเกิดอาการโคม่านั้น จะมีความเสี่ยงน้อยลง
3. การส่ง SMS เพื่อให้ผู้เอาประกันยืนยันการเปลี่ยนเงื่อนไข จึงเป็นการกระทำที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นผู้เอาประกันจึงไม่ควรหลงเชื่อ และหากดำเนินการไปแล้ว สามารถแจ้งยกเลิกได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกรมธรรม์ต้องขออนุญาต คปภ. และต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำได้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอว่า 1.ขอให้ คปภ.ตรวจสอบ และสั่งให้บริษัทประกันชี้แจงและเปิดเผยว่า กรมธรรม์ที่ยังไม่เคลมมีจำนวนอีกเท่าไร 2. ขอให้ คปภ. พิจารณาการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของบริษัทประกัน ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ กรณีที่เสนอเปลี่ยนเงื่อนไข จาก "เจอ จ่าย จบ" เป็นเงื่อนไขจ่ายเฉพาะภาวะโคม่า เนื่องจากปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนซึ่งช่วยลดภาวะโคม่า แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ การกระทำของบริษัทประกันจึงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค 3. ขอให้ คปภ. ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทประกันที่ส่งข้อความในเชิงบังคับให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจผิดและหลงเชื่อยอมเปลี่ยนสัญญา
รองผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเชิญชวนผู้บริโภคให้ร่วมจับตาการประชุมเรื่องการแก้ปัญหาบริษัทประกันภัย ที่ คปภ.จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน นี้ด้วย เพราะแม้ว่า คปภ. จะช่วยให้ธุรกิจประกันภัยไม่ให้สูญเสีย แต่ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่เป็นผู้เอาประกันด้วย สำนักงานคปภ.มีฐานะเป็นนายทะเบียน หากจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ ที่ คปภ. เคยอนุญาตไว้ ก็ต้องมาขออนุญาตก่อน ว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยน
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้ คปภ. ตรวจสอบการประกอบการและสถานะทางการเงินของ บริษัทประกันฯ ดังกล่าวโดยทันที เนื่องจากเข้าข่ายมีพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้มีวิชาชีพประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และขอให้ คปภ. เปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้เอาประกันภัยโควิดของบริษัทประกันภัยทุกบริษัทต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงจำนวนที่แท้จริงของผู้เอาประกัน และเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับผู้บริโภคที่ทำประกันภัยโควิดทุกคน