มพบ. สสส. พร้อมภาคีฯ รับกระแสวันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด ‘The Sustainable Consumer’ สร้างผู้บริโภครับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนปรับลดค่าโดยสารรถสาธารณะ ชี้คนกรุงแบกรับภาระสูงแตะ 28% ของรายได้ขั้นต่ำต่อวัน แซงหลายประเทศ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคม 2563 ว่า ผู้บริโภค คือ กลุ่มที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจโลก จำเป็นต้องมีตัวแทนทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิ จึงเป็นที่มาของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) และองค์กรสมาชิกที่มีมากกว่า 200 องค์กรจาก 115 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกสามัญ โดยในปีนี้สากลได้กำหนดภาพรวมการสื่อสารเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “The Sustainable Consumer” อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบต่อประชากรทุกภูมิภาคโลก โดยมุ่งสื่อสารรณรงค์ 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การเรียกร้องข้อมูลเรื่องความยั่งยืนของสินค้า 2) การขนส่งที่ยั่งยืน การเดินทางโดยใช้บริการ Sharing 3) แฟชั่นหมุนเวียน 4) หีบห่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 5) สินค้าที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น
“ทุก ๆ หนึ่งนาที มีขวดพลาสติกถูกจำหน่ายออกไปกว่า 1 ล้านขวด ขณะที่พลาสติกจำนวนกว่า 50,000 ล้านชิ้นก็ยังลอยอยู่ในทะเล อีกทั้งเราซื้อเสื้อผ้ากันปีละ 80,000 ชิ้น และบริโภคอาหารปีละ 3,900 ล้านตัน โดยหนึ่งในสามของอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารเหลือทิ้งอีกด้วย อาจเป็นเรื่องยากที่จะหยุดการบริโภคแบบไม่ยั่งยืนในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้บริโภคทุกคนในโลก” เลขาธิการ มพบ. กล่าว
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปีนี้นอกจาก มพบ. สสส. และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะสนับสนุนประเด็นการบริโภคอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเดินหน้าสื่อสารผลักดันเชิงนโนบายในประเด็นค่าโดยสารรถสาธารณะ ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนกรุงเทพฯ หากเป็นรถไฟฟ้าทุกระบบทั้ง BTS MRT และ ARLจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 26 - 28 หรือหากใช้รถเมล์ ขสมก. ปรับอากาศก็มีค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 15 - 16 ส่วนรถเมล์ร่วมบริการอยู่ที่ร้อยละ 14 ขณะที่ในปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียงร้อยละ 3 ลอนดอนร้อยละ 5 โตเกียวร้อยละ 9 และสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 5 นั่นเท่ากับคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพง และสวนทางกับคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย
“ความจริง คือ ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรก ที่เรียกว่า ค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14 - 16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ จึงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัย เท่าเทียมเป็นธรรม เพราะเมื่อขนส่งมวลชนมีคุณภาพน่าใช้บริการแล้ว จะสามารถลดจำนวนรถบนท้องถนนได้ตามไปด้วย” นายชาติวุฒิ กล่าว
เพื่อสร้างการรับรู้สิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มพบ. สสส. และภาคีเครือข่ายได้จัดแคมเปญออนไลน์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2563 (วันสิทธิผู้บริโภคไทย) โดยมีกิจกรรมถ่ายทอดสดการเสวนา ‘Dream Talk ภาพฝันจากผู้บริโภคสร้างแรงบันดาลใจ’ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตัวแทนผู้บริโภคที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมแชะ แชะ แชร์ แชร์ ปัญหาที่กระทบต่อผู้บริโภค ฯลฯ ผ่านทางเฟซบุ๊ก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเว็บไซต์ https://www.consumerthai.org/