กฎหมายบางฉบับและการประสานงานของหน่วยงานรัฐ เป็นความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค


6

อาจารย์นิติ มธ. ชี้ กฎหมายบางฉบับและการประสานงานของหน่วยงานรัฐ เป็นความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดเวทีสัมมนา ‘ความร่วมมือเครือข่ายทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวบรรยายพิเศษ ‘ประเด็นท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า การบูรณาการการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน โดยต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพขององค์กรเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ

4นายไพศาล กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ กฎหมายบางฉบับมีเนื้อหาล้าสมัย รัฐลงทุนค่อนข้างน้อยกับเรื่องการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิผู้บริโภค เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสินค้าผิดกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้าราชการ 1 คน และที่เหลือเป็นลูกจ้าง ซึ่งได้สวัสดิการต่ำ อีกทั้งปัญหาเรื่องการประสานงานของหน่วยงานรัฐ เช่น เมื่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะได้รับแจ้งว่าไม่อยู่ในความดูแล ต้องส่งต่อให้หน่วยงานอื่น ซึ่งเมื่อส่งเรื่องไปแล้วจะไม่ทราบผลการดำเนินงาน รวมทั้งเรื่องการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ พบการหลอกหลวงให้ซื้อสินค้า หรือหลอกให้ลงทุนแล้วไม่สามารถติดตามตัวคนร้ายได้ อีกทั้งกรณีดังกล่าวกฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง และไม่ทราบว่าจะมีหน่วยงานใดดูแลได้ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การฟ้องคดีกลุ่มของเครื่องสำอางยี่ห้อเพิร์ลลี่ ซึ่งศาลชั้นต้นไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม จึงต้องอุทธรณ์และได้รับอนุญาตให้เป็นคดีแบบกลุ่มแทน นอกจากนี้ ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ของ อย. ที่จะเน้นอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนให้กับผู้ประกอบการมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค

“ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศไทย โดยมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริโภคเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคในเรื่องการเรียกคืนสินค้า คือ สคบ. ไม่บังคับให้ผู้ประกอบการเก็บสินค้าผิดกฎหมาย ทั้งที่มีอำนาจ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพ และศักยภาพ ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่ผู้ประกอบการมีการเก็บสินค้าโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากนี้การเปลี่ยนนโยบายของแต่ละรัฐบาลก็มีผลต่อกฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภคเช่นกัน” นายไพศาลกล่าว

Tags: ทนายความ, มพบ.

พิมพ์ อีเมล