หลังพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 กค. 60 ที่ผ่านมา กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเรียกเงินคืนจากผู้กู้ยืม
เมื่อวันที่ 19 สค. 60 มีรายงานว่า สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้เข้าพบนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างได้ เพื่อคืนให้กับกองทุน กยศ. ทั้งนี้ พรบ. กองทุนเงินให้กู้ยืมฯ ฉบับใหม่ กำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนจากรายได้ของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของ กองทุนฯ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรเช่นเดียวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นกับประเด็นดังกล่าวว่า กรณีนี้กองทุนจะดำเนินการ เมื่อผู้กู้ยังไม่ชำระหนี้ จึงจะตรวจสอบไปยังหน่วยงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลการทำงานของลูกหนี้ ดังนั้นก็จะสามารถทำได้เฉพาะลูกหนี้ที่มีหลักแหล่งการทำงาน แต่หากลูกหนี้ที่ประกอบอาชีพอิสระไม่มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่งก็จะยากที่จะดำเนินการ
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้กู้ยืมเงินกองทุนเหมือนกัน แต่คนที่กู้ยืมควรมีการดำเนินการแจ้งกองทุนว่าจะผ่อนหรือจะคืนเงินกองทุนอย่างไร เพื่อลดปัญหาการติดตามทวงถามหนี้หรือการฟ้องคดี ทั้งนี้อยากให้ผู้กู้ยืมทุนการศึกษาผ่อนชำระหนี้คืนตามเงื่อนไข ให้กับกองทุนตามที่เวลากำหนด เพราะกองทุนนี้จะทำให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษา หากใช้หนี้คืนคนรุ่นหลังก็จะสามารถมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องหนี้เฉพาะหนี้กยศ. ยังมีหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบอีกจำนวนกว่า 200 กว่ารายในรอบครึ่งปีแรก