คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่อนจดหมายเตือนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กรณีทบทวนมติให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงโดยไม่ปัดเศษวินาทีทั้งระบบ เปลี่ยนเป็นให้มีการคิดได้ทั้งแบบนาทีและวินาที ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและกระทำการผิดกฎหมาย เรียกร้องให้ทบทวน มิเช่นนั้นจะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
31 มีนาคม 2560 คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เรียกร้อง กทค. ให้ทบทวนมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ที่ได้มีการทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบการให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบแนวทางการตรวจสอบและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด โดย คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า มติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ดังกล่าว เป็นไปตามประกาศการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 18000 MHz และ 900 MHz เงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นทั้งสองย่านดังกล่าว รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนเป็นไปตามข้อเสนอที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ต้นปี 2558 เรื่องการคิดโทรแบบไม่ปัดเศษ หรือคิดตามการใช้งานเป็นหน่วยวินาที ดังนั้น การทบทวนมติที่ถูกต้องตามกฎหมายนี้จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช.ตัวแทนเขตภาคกลาง กล่าวว่า คอบช. เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในระดับของหน่วยนับย่อยของบริการประเภทต่างๆ กล่าวคือ สำหรับบริการเสียงก็คิดในหน่วยวินาที และบริการข้อมูลคิดในหน่วย kb เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้บริโภค และเมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่คิดอัตราค่าบริการเป็นวินาทีออกสู่ตลาด คอบช. ก็ได้ติดตามตรวจสอบและพบว่า อัตราค่าบริการที่ทำออกมาเป็นทางเลือกนั้นไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องจ่ายราคาแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับรายการส่งเสริมการขายเดิมที่คิดค่าบริการแบบปัดเศษจากวินาทีเป็นนาที
"สิ่งที่ สปช. และผู้บริโภคเรียกร้องต่อ กสทช. และอุตสาหกรรมมือถือคือ ขอให้เลิกคิดค่าบริการแบบปัดเศษ โดยเปลี่ยนเป็นคิดตามหน่วยการใช้ที่วัดได้จริง เช่น การโทรในครั้งนี้มีระยะเวลา 1.04 นาที ก็คิดเป็น 1.04 นาที มิใช่ 2 นาที ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของวิธีการนับปริมาณการใช้งานตามหน่วยวัดย่อยที่วัดได้จริง ไม่เกี่ยวกับการออกรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีหรือนาที ดังนั้น มติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 ที่ กทค. อ้างว่าเป็นการมีมติเพิ่มเติมให้ในตลาดมีทั้งรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีและนาที เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค นั้นไม่เป็นความจริง เพราะรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีมีการคิดค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าแบบนาทีมาก ผู้บริโภคย่อมฉลาดพอที่จะไม่เลือก" นางสาวชลดากล่าว
ด้านนางมณี จิรโชติมงคลกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวเสริมว่า การออกรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีผสมกับแบบนาทีไม่ได้ทำให้ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนวิธีการนับหน่วยวัดตามที่สังคมเรียกร้อง ในขณะที่มติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ที่ให้ตรวจสอบรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดในตลาดให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที นั้นเป็นมาตรการที่ถูกต้องแล้ว การที่ กทค. ทบทวนเปลี่ยนมติดังกล่าว โดยให้ผู้ประกอบการออกรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเสียง ทั้งในรูปแบบการคิดค่าโทรเป็นนาทีและเป็นวินาที โดยมีรูปแบบวินาทีไม่น้อยกว่า ๕๐% ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมด หรือมาเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ นั้น จึงเป็นเพียงการเล่นละครเพื่อหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนระบบการปัดเศษ หรือทำให้ระบบการปัดเศษยังคงดำเนินต่อไปนั่นเอง
นางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวว่า มติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ถือได้ว่าเป็นมติที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่านความถี่ 1800 MHz ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่านความถี่ 895 – 905 MHz / 940– 950 MHz เงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการฯ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2559 เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ดังนั้น คอบช. จึงขอเรียกร้องให้ กทค. ทบทวนการทบทวนมติ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และส่งผลในทางที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค มิเช่นนั้น ทาง คอบช. อาจต้องดำเนินการในทางอื่นๆ เพื่อเอาผิด กทค. ต่อไป