ผู้บริโภคร้อง “ฟาร์มเฮ้าส์” แสดงความรับผิดชอบ หลังเจอเส้นผมในขนมปัง ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะบริษัทฯ เยียวยาผู้เสียหายในทันที อย่าปฏิเสธ
จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหลังจากซื้อขนมปังไส้เผือก ยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ ของบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) แล้วเจอเส้นผมในไส้ของขนมปังนั้น
นางสาวบูรณ์มี ศิริเศรษฐวรกุล ผู้ร้องเรียนกรณีดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้ซื้อขนมปังไส้เผือก ยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ จากร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งย่านรังสิต เมื่อบิขนมปังออกเพื่อจะรับประทานก็พบเส้นผมอยู่ในเนื้อไส้ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าเป็นเส้นเผือก แต่ที่จริงแล้วเป็นเส้นผมยาวพอประมาณ เลยนำโทรศัพท์มาถ่ายรูปไว้ และไปแจ้งความให้ตำรวจลงบันทึกประจำวัน
“ตอนที่เจอก็ตกใจ เพราะเจอครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ จากยี่ห้อเดียวกัน แต่เป็นขนมคนละประเภท” นางสาวบูรณ์มีกล่าว
ผู้ร้องเรียน เล่าต่อไปว่า หลังจากร้องเรียนไปที่มูลนิธิฯ ได้มีการติดต่อบริษัทฯ มาพูดคุย ซึ่งตัวแทนของบริษัทฯ ก็มาบอกขั้นตอนการทำงานว่าขั้นตอนการทำงานรัดกุม แต่อาจมีสิ่งปนเปื้อนมาจากวัตถุดิบที่ซื้อมา เช่น แป้ง น้ำตาล นม เนย เป็นต้น ซึ่งวันนั้นตัวแทนของบริษัทฯ ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการเยียวยาความเสียหายได้ จึงรับเรื่องไปปรึกษากับผู้ใหญ่ก่อน แต่แล้วบริษัทฯ ก็เงียบไป ผ่านไปหลายเดือน ทำหนังสือตามไป ๒ ครั้งก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่มีใครติดต่อกลับมา
“เราอยากให้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ที่อาจเจอแบบนี้แล้วไม่กล้าร้องเรียน เพราะถ้าไม่มีใครร้อง บริษัทฯ เขาก็จะเพิกเฉย เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ถึงขนมชิ้นละไม่กี่บาท แต่เป็นแบบนี้เราก็กินไม่ได้ ก็ต้องทิ้ง ขณะที่บริษัทฯ ได้เงิน เลยอยากให้บริษัทฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจเหมือนผู้บริโภคไม่สำคัญสำหรับเขา” นางสาวบูรณ์มี กล่าว
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ กล่าวว่า หลักการดูแลเยียวยาผู้เสียหายนั้น บริษัทฯ ควรมีมาตรฐานในการเยียวยาผู้เสียหายในทันที และไม่ควรปฏิเสธการช่วยเหลือผู้บริโภค
“การพบสิ่งปนเปื้อนในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากใช้คนในการควบคุมการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งฝ่ายผลิตของบริษัทฯเองก็ยังแจ้งว่าอาจเกิดจากวัตถุดิบได้ แม้จะมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน แต่เมื่อผู้บริโภคพบและสะท้อนปัญหาแล้วแจ้งไปยังทางบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ นำไปตรวจสอบปรับปรุง ก็ควรจะมีการเยียวยาในส่วนที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายที่ซื้อสินค้ามาแล้วรับประทานไม่ได้ และคงจะมีผู้บริโภคอีกมากที่ต้องการเห็นมาตรการความรับผิดชอบในการจัดการปัญหาของบริษัทฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าการปฏิเสธจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี” นางนฤมลกล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๘ กำหนดบทลงโทษกรณีมีสิ่งปนเปื้อนในอาหารว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคเจอสิ่งปนเปื้อนในอาหารสามารถร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้