จากกรณีที่มีผู้บริโภคซื้อแพ็กเกจวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิดจากโรงพยาบาลเอกชนในราคา ๕,๐๐๐ บาท แล้วเมื่อจะเข้ารับฉีดวัคซีนตามโปรแกรม ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่มีวัคซีนฉีดให้ โดยอ้างว่าหมดอายุ และแนะนำให้ฉีดวัคซีนตัวใหม่ที่ราคาสูงขึ้นกว่าเดิมนั้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การซื้อแพ็กเกจของผู้บริโภคจากโรงพยาบาลเอกชนก็เพื่อความสะดวกสบายในการใช้บริการ โรงพยาบาลต้องเตรียมพร้อมไว้รองรับให้กับผู้ที่ซื้อแพ็กเกจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีกำหนดอายุอย่างไร เนื่องจากเป็นการซื้อบริการล่วงหน้า การอ้างว่าวัคซีนตามแพ็กเกจที่ซื้อไว้หมดอายุ และเสนอให้ผู้บริโภคซื้อแพ็กเกจใหม่ เป็นการผลักภาระให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งที่เป็นการบริหารจัดการของโรงพยาบาลเอง
“กรณีเช่นนี้โรงพยาบาลต้องจัดการไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยควรมีมาตรฐานในการจัดการ เช่น รู้อยู่แล้วว่าการฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้ฉีดได้ครั้งเดียวหมด และวัคซีนแต่ละตัวควรจัดให้เด็กในช่วงเวลาใด โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบจัดหาวัคซีนให้ได้ตามแพ็กเกจที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องให้ลูกค้าเรียกร้องผ่านสื่อแล้วถึงจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องคุณภาพมาตรฐานการให้บริการของโรงพยาบาล จึงควรจัดการปัญหาทั้งระบบ เพราะน่าจะมีผู้บริโภครายอื่นๆ ที่ซื้อแพ็กเกจนี้และประสบปัญหาแบบเดียวกัน” นางนฤมล กล่าว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวต่อไปว่า สัญญาที่โรงพยาบาลทำกับผู้บริโภคถือว่าสมบูรณ์แล้ว เพราะมีการชำระเงินล่วงหน้า ทางโรงพยาบาลก็รู้อยู่แล้วว่าจะมีบริการ ย่อมมีระยะเวลาในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกได้ แต่กลับไม่จัดการปัญหา กรณีเช่นนี้จึงถือเป็นการทำผิดสัญญา อย่างไรก็ดี หากผู้บริโภคพบกรณีเช่นนี้สามารถเรียกร้องสิทธิให้โรงพยาบาลรับผิดชอบได้ ด้วยการบอกเลิกสัญญา พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา เป็นต้น ตามมาตรา ๓๙๑ วรรค ๔ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี