
“รถตู้ผี” คืออะไร รถตู้ผีก็คือ รถที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อใช้รับส่งผู้โดยสารประจำทาง แต่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นรถยนต์ใช้ส่วนบุคคลแทน จุดสังเกตง่ายๆก็คือ สีของป้ายทะเบียน หากเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง จะเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง มีหมวดเลข 1 นำหน้า เช่น 10-19 แล้วตามด้วยตัวเลข 4 หลัก ส่วนรถยนต์ตู้ส่วนบุคคลจะมีป้ายทะเบียนสีขาว และขึ้นต้นด้วยหมวดตัวอักษร รถตู้ประเภทนี้จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นรถตู้โดยสารประจำทางได้ หากนำมาใช้วิ่งบริการ เราจะเรียกว่า รถตู้ผี หรือ รถตู้เถื่อน นั่นเอง
หากถามว่าแล้ว รถตู้ผี เกิดมาได้อย่างไร คำตอบคือ เกิดมาจากระบบการจัดการขนส่งที่ไม่สมบูรณ์ การประกอบการขนส่งของเมืองไทยจะมีผู้รับสัมปทานเพียง 2 เจ้า คือ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) แต่เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีรถไม่เพียงพอกับการให้บริการ ทั้งสองหน่วยงานจึงออกใบอนุญาตเดินรถให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่นำรถเข้าร่วมวิ่งในเส้นทางต่างๆ ซึ่งเราจะเรียกรถเหล่านี้ว่า “รถร่วมบริการ” มีอายุการถือครองใบอนุญาต 7 ปี
แต่ที่น่าตกใจคือจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถนั้น กลับไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเอง ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือ มีรถโดยสารของตนเอง 1-5 คันเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่มีรถของตนเองอย่างเพียงพอจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ร้อยละ 2 เท่านั้น
ดังนั้นการประกอบการเดินรถในปัจจุบันจึงมีรูปแบบที่เรียกว่า “การนำรถเข้ามาร่วมวิ่งกับผู้ถือใบอนุญาต” ใครมีรถตู้แล้วอยากนำมาวิ่งรับขนคนโดยสารก็นำมาวิ่งร่วมได้ บางเส้นทาง 1 ใบอนุญาตแต่มีผู้ประกอบการกว่า 100 คน เลยทีเดียว และบางครั้งรถตู้ที่นำมาวิ่งให้บริการก็เป็น รถยนต์ตู้ส่วนบุคคล หรือเรียกว่า รถผี รถเถื่อน เพราะผู้ถือใบอนุญาตไม่มีการควบคุม บริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมาย ทำเรื่องผิดกฎหมายให้กลายเป็นความเคยชิน ให้บริการกันเป็นปกติเช่นเดียวกับรถโดยสารประเภทประจำทาง จนในที่สุดเรื่องผิดกฎหมายก็อาจกลายเป็นถูกกฎหมายในเวลาต่อมา
รถตู้ผี คือ รถตู้ที่ผิดกฎหมาย ปัญหาที่ตามมาจากการใช้บริการรถตู้ประเภทนี้ถ้าจะให้สาธยายสามวันเจ็ดวันก็คงบรรยายไม่ครบ แต่ถ้าจะจำกัดความให้สั้นกระทัดรัดก็คือ “ใช้รถตู้ผี ตายฟรี- บาดเจ็บจ่ายเอง” จากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่นั่งรถตู้ผี แล้วประสบอุบัติเหตุ ระหว่าง ปี 2554-2556 (อุบัติเหตุ 83 ครั้ง เป็นรถผี 44 ครั้ง) พบว่า ปัญหาการใช้บริการรถตู้ผี มีดังต่อไปนี้
· รถตู้ผี เป็นการนำรถมาใช้ผิดประเภท รถตู้ที่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน หรือ 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน เมื่อนำมารับส่งผู้โดยสาร 14-15 คน ประกันภัยก็จะรับประกันเท่ากับ 7 หรือ 12 คน เท่านั้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้ว ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็อาจไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น
· รถตู้ผี จะไม่นับว่าเป็นรถร่วมบริการที่ถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่รับผิดชอบก็คือ คนขับและเจ้าของรถเท่านั้น ซึ่งบางครั้ง คนขับและเจ้าของรถอาจเป็นคนเดียวกันอีก ไม่สามารถเกี่ยวร้อยไปยัง ผู้ถือใบอนุญาต (เจ้าของวิน) และ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ได้เลย สถานการณ์เช่นนี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะไม่ได้รับค่าชดเชย เยียวยา ที่เหมาะสม หรือไม่ได้เลย
· รถตู้ผี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ การได้รับบริการที่ไม่เหมาะสม เช่น บางเส้นทางรถตู้วิ่งให้บริการ เกิน 300 กิโลเมตร (ระยะทางรวมต้นทางปลายทาง) ซึ่งผิดกฎหมาย แถมยังมีคนขับคนเดียว อาจเกิดความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จนทำให้เกิดการหลับใน เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในเวลาต่อมา
· รถตู้ผี เป็นการขยายอาณาเขตระบบการให้บริการที่ผิดกฎหมาย แทรกซึมมากับระบบที่ถูกต้อง หากผู้โดยสาร ยังคงส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดบริการเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับยินยอมถูกละเมิดสิทธิที่จะสามารถเลือกใช้บริการที่มีความปลอดภัยในชีวิต และเรายังเป็นผู้ส่งเสริมให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั่นเอง
ถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเรา ต้องหันมาเรียนรู้ ร่วมกัน ปลูก ปลุก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไทยให้เข้มแข็ง และสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้รู้เท่าทันกับผลประโยชน์ที่แอบแฝง จ้องแต่จะเอาเปรียบเราทุกลมหายใจ พบปัญหาจากการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3734-37 หรือThis email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และ ร่วมเป็นแฟนเพจอีกแล้วรถโดยสารไทยทางhttp://www.facebook.com/againbus
ข้อมูลประกอบ
ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2554 – มิถุนายน 2556
ประเภทรถโดยสาร |
จำนวนอุบัติเหตุ (ครั้ง) |
บาดเจ็บ |
เสียชีวิต |
ร้อยละ |
รถตู้ |
83 |
638 |
119 |
30.63 |
รถโดยสารปรับอากาศ |
82 |
1,878 |
123 |
30.26 |
รถโดยสารนำเที่ยว |
43 |
1,050 |
42 |
15.87 |
รถโดยสารระหว่างจังหวัด |
19 |
407 |
15 |
7.01 |
รถรับส่งพนักงาน |
18 |
248 |
18 |
6.64 |
รถเมล์ |
21 |
81 |
9 |
7.75 |
รถแท็กซี่ |
5 |
5 |
6 |
1.85 |
รวม |
271 |
4307 |
332 |
100.00 |
ข้อมูลจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)