เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รุดยื่นหนังสือถึง ประธาน กทค. และเลขาธิการ เร่งแก้ไขปัญหาผู้บริโภค โดยใช้ ม.66 พรบ.โทรคมนาคม 2554 สั่งปรับทางปกครอง บริษัทมือถือ ระบุหากยังนิ่งพร้อมใช้ ม. 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่แทน
29 พ.ค.55 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางมายื่นหนังสือต่อ ประธาน กทค. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้ทุกฝ่ายของโครงสร้างอำนาจภายใน กสทช. ร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคจากกรณีถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน โดยอาศัยอำนาจตาม ม.66 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2554 สั่งปรับทางปกครองกับบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ฝ่าฝืน ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กสทช. เร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน และต่อมากรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ ก.พที่ผ่านมาว่า ผู้ให้บริการทุกรายจะต้องปฏิบัติตามประกาศ กทช. โดยห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่ต่อมาพบว่า ยังคงมีการฝ่าฝืนมติ และยังคงมีผู้บริโภคที่ถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการอยู่เช่นเดิม
“เรื่องพรีเพดนี้ยืดเยื้อมานานมากตั้งแต่ยุค กทช. มาจนถึง กสทช. ผู้บริโภคยังต้องมาร้องเรียนเป็นรายๆ ใครรู้จัก กสทช. ก็มาแจ้งมาร้องเรียน ก็รอดตัวไป ใครไม่รู้จัก ไม่รู้สิทธิ ก็ถูกกำหนดวัน ถูกยึดเงิน ไป ทั้งที่เป็นกรณีร้องเรียนของผู้บริโภคที่ชัดเจนว่า ต้องแก้ปัญหาในระดับนโยบาย เพราะมีการฝ่าฝืนกฎหมายชัดเจน จึงเป็นภาระของ กสทช. ทุกท่าน เพราะการทำงานเป็นการทำงานผ่านมติที่ประชุม ทุกท่านต้องเห็นพ้องว่า ปัญหาพรีเพดเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ขณะที่ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นภาระของทุกโครงสร้างส่วนงานนี้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะปัญหามันเห็นอยู่ชัดเจน เราจะมัวกอดมันไว้ไม่ได้ แต่ต้องแก้ไข เลขาธิการ กสทช. ควรใช้อำนาจทางปกครองได้แล้ว“นางสาวบุญยืนกล่าว
ด้านนายกำชัย น้อยบรรจง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคกลาง เปิดเผยว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคนั้น ทำงานในระดับพื้นที่และคลุกคลีกับปัญหาของผู้บริโภค และเห็นว่า เรื่องนี้สร้างผลกระทบกับผู้ใช้บริการ ตั้งแต่การเร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งเติมเงินภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด โดยมีเงินคงเหลือในระบบและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน
“ เราคุยเรื่องนี้กันมามาก มากกว่า 30 ครั้งแล้ว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเคลื่อนไหวเรื่องนี้ตั้งแต่การเรียกร้องทั้งบริษัท ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล มาหลายครั้ง กฎหมายก็ประกาศมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ฝ่าฝืนกันมานาน ผู้บริโภคก็เดือดร้อน สำนักงาน กสทช. ก็รับทราบปัญหาดี เราต้องการเพียงแต่ขอให้ทั้ง กสทช.ทุกท่าน และเลขาธิการกสทช.ร่วมกันทำหน้าที่ของท่าน ด้วยการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น อีกทั้งการไม่ดำเนินการใดใดอาจทำให้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเครือข่ายคงจำเป็นต้องใช้บริการหากไม่มีการดำเนินการใดใดจากหน่วยงานกำกับดูแล” นายกำชัยกล่าว
โดยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และกล่าวว่า กสทช.ไม่ได้ละเว้นในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าว แต่ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ต้องมีความสอดคล้องทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ผู้ บริโภค
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยได้ส่งหนังสือล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เลขาธิการ กสทช. ว่าด้วยเรื่องการห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการล่วงหน้า ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในพรุ่งนี้(30 พ.ค.) และ กสทช.จะตรวจสอบว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามที่ กสทช.บังคับตามกฎหมายที่ไม่ให้กำหนดวันหมดอายุหรือไม่ หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการด้วยการพิจารณาปรับค่าเสียหายขั้น ต่ำ 20,000 บาทต่อวัน ต่อหนึ่งหมายเลข ขณะที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า หากภายใน 1 สัปดาห์ยังไม่มีความคืบหน้าจะยื่นฟ้อง กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ต่อศาลปกครอง ฐานละเว้นปฏิบัติการบังคับใช้กฏหมายต่อไป
{gallery}action/It_action/550529_consumers{/gallery}