consumerthai – 23 ม.ค. 52 ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ตลาดหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง การเคหะแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและธรรมาภิบาลวุฒิสภา ขอให้ขอให้ตรวจสอบการทำงานของการเคหะแห่งชาติ
เหตุที่ชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือดังกล่าวนั้น เนื่องด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ทำการค้าขาย บริเวณลานเอนกประสงค์หน้าเซเว่น หมู่บ้านนักกีฬา มีปัญหาเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการกระทำของการเคหะแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องที่ทำมากินซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของชุมชนมาหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ.2539
สืบเนื่องจาก ปีพ.ศ. 2540 การเคหะแห่งชาติได้ย้ายกลุ่มผู้ค้าจากตลาดเดิม มาค้าขายบริเวณลานเอนกประสงค์ ณ. ปัจจุบัน เหตุผลเพื่อพัฒนาตลาดเก่า ให้เป็นตลาดถาวรโดยสัญญากับผู้ค้าว่า จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการเคหะแห่งชาติ ส่วนที่ย้ายไปอยู่หน้าเซเว่นนั้นการเคหะแห่งชาติได้ทำการตีเส้นแบ่งล็อคให้ผู้ค้า และเก็บเงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงมาจนสิ้นปี พ.ศ.2541 ได้มีคนร้องเรียนไปที่สำนักกฤษฏีกา ว่าการเคหะทำผิดที่ได้นำพื้นที่ส่วนกลางมาจัดเก็บผลประโยชน์ จึงได้ยกเลิกการเก็บเงินจากผู้ประกอบการค้าหน้าเซเว่น ต่อมาจึงได้นำป้ายมาติดขับไล่ผู้ประกอบการค้า และนำพื้นที่ตลาดเดิมไปให้เอกชนเช่าเพื่อสร้างตลาดรองรับผู้ค้าหน้าเซเว่น แต่เนื่องจากผิดจากสัญญาเดิมที่การเคหะแห่งชาติแจ้งทำให้มีผู้ต่อต้าน แต่มีผู้ค้าบางกลุ่มก็ยอมย้ายไป ส่วนใหญ่ไม่ได้ย้ายไปนั้นมีเหตุผลว่า
1.บริษัทเอกชนได้เรียกเก็บเงินค่าจอง , เงินดาวน์ , เงินค่าทำสัญญา ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูง เกินความสามารถของผู้ค้าที่มีกำไรเพียงเล็กน้อยพอเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว ที่จะไปจับจองได้
2. กรรมการของตลาดเอกชนได้ชักจูงญาติมิตรจากที่อื่นมาทำการจับจองแผงจนหมด ทำให้ผู้ค้าจากหน้าเซเว่นบางกลุ่มไปแล้วแผงค้าหมด ต้องไปเช่าต่อ ยิ่งเป็นการเพิ่มราคาแผงค้าให้แพงขึ้นไปอีก
จนถึงปี พ.ศ. 2547 ได้มีกลุ่มอิทธิพลจากบริษัทเอกชนได้จ้างวานนักเลงประมาณ 150 คน มารื้อทำลายตลาดของผู้ค้าหน้าเซเว่น จนพังยับเยินด้วยการรู้เห็นเป็นใจของการเคหะแห่งชาติ จนถึงขณะนี้ บรรดาพ่อค้าแม่ค้า เหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากการกระทำดังกล่าว
ครั้นปี พ.ศ.2549 การเคหะแห่งชาติได้ทำการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการค้าหน้าเซเว่น จำนวน 151 ราย เรียกค่าเสียหายเป็นเงินแสน บรรดาผู้ค้าจึงรวมตัวกันไปขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ก็ได้มีการติดต่อขอเข้าพบกับผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ มาจนถึงนายพรศักดิ์ บุญโยดม รวมทั้งไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หลายสมัย จนถึงวาระของท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นเจ้ากระทรวง จึงมีนโยบายขอซื้อกิจการคืนจากบริษัทเอกชน เพื่อคืนให้กับชุมชน แต่เมื่อหมดสมัยท่านไพบูลย์จึงได้ยกเลิกนโยบายที่จะซื้อกิจการคืน ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวจึงไม่ได้รับการแก้ไข
“การเคหะแห่งชาติได้กำหนดเส้นตายให้พวกเราขายได้ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2552 เท่านั้น และยังไม่มีพื้นที่รองรับให้ตามที่เคยสัญญาไว้ และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกบังคับตามกฎหมาย ตามคำสั่งของศาลอีก เราจึงรวมตัวกันเพื่อจะขอความเป็นธรรมจาก ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและธรรมาภิบาลวุฒิสภา ได้ช่วยเหลืออนุเคราะห์ความเดือนร้อนครั้งนี้ ตามความชอบธรรม” นางอารีรัตน์ จุลทิพย์ ตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อน ตลาดหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง กล่าว
ติดต่อ ประสานงาน อารีรัตน์ จุลทิพย์ 089-678-2030