สนช.ไฟเขียว พรบ.ทวงหนี้ ครอบคลุมลูกหนี้ทั้งใน-นอกระบบ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐประกอบธุรกิจทวงหนี้ ชี้ผิดอาญาตาม พรบ.ทวงถามหนี้ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตามที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขร่าง พรบ.ดังกล่าว ซึ่งมีกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของตน มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลกำกับระดับประเทศที่มาจากทุกภาคส่วน และคณะกรรมการระดับจังหวัดที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดทะเบียนผู้ที่จะประกอบธุรกิจทวงหนี้ ลูกหนี้สามารถร้องเรียนพฤติกรรมการทวงหนี้ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และที่สำคัญห้ามเจ้าหน้าที่รัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เพื่อลดสภาวะกดดัน และการข่มขู่ คุกคาม ในการทวงถามหนี้
ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะมีทั้งโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำและปรับ และบทกำหนดโทษของ พรบ.ทวงถามหนี้นั้นมีทั้งโทษทางปกครองและโทษทางอาญาจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปีและปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนถึงห้าแสนบาท เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้เจ้าหนี้หรือผู้ที่ติดตามทวงถามหนี้ใช้พฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย
“จากเดิมที่มีการติดตามตรวจสอบเฉพาะการทวงหนี้ในระบบเท่านั้น ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนที่ สนช.ไฟเขียวให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพราะกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ไดัรับความค้มครองจากการทวงหนี้ไม่เหมาะสม เช่นการข่มขู่คุกคามลูกลูกหนี้ ประจาน หรือทวงหนี้กับญาติพี่น้อง ลูกหนี้สามารถไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง และที่ว่าการอำเภอทุกที่” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
ทั้งนี้ ร่าง พรบ.ทวงถามหนี้ พ.ศ. …. ที่ผ่าน สนช.วาระแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา มีเพียงการติดตามทวงหนี้ในระบบ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิต ได้ร่วมกันเสนอความเห็นให้มีการจัดตั้งอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาปัญหาการร้องเรียนอย่างรอบด้าน เพื่อรับฟังปัญหาทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการเงิน ลูกหนี้ หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทนายความ และเครือข่ายภาคประชาชน ทำให้มีการเพิ่มเติมสาระเพื่อให้ กฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง