บุญยืนบุกกระทรวงพลังงาน ยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมาย(ถลุง)กองทุนน้ำมัน

590328 news1
วันที่ ๒๘ มีนาคม นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค อดีตวุฒิสมาชิก จังหวัสมุทรสงคราม และกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้เดินทางไปที่กระทรวงพลังงานพร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง และยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานผ่านตัวแทน โดยเนื้อหาของหนังสือที่ยื่นมีรายละเอียด ดังนี้

เรื่อง ขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .............”
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศบนหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในการรับฟังความคิดเห็น “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .....” ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ นั้น
ดิฉันนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ในฐานะประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และประชาชนผู้ลงนามร่วมในหนังสือฉบับนี้ ขอให้ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ..... ของกระทรวงพลังงาน ในสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

๑.วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเงินภาษีลักษณะหนึ่งที่บังคับเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้ก๊าซและน้ำมัน ซึ่งยังต้องมีภาระจ่ายภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกในราคาน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ จึงต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่กว้างขวางจนกลายเป็นภาระกับประชาชนมากจนเกินไป ดังนั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงควรมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
     ๑.๑ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเป็นครั้งคราว จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นผิดปกติอย่าง รุนแรง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ สามารถปรับตัวในการดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจและกลไกตลาดที่ เปลี่ยนแปลงไป
     ๑.๒ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม ในการบริหาร การเก็บ การจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การดำเนินการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม
     ๑.๓ ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยเชื้อเพลิง ชีวภาพเพื่อให้มีส่วนต่างราคาจากน้ำมันเชื้อเพลิง ขอให้ตัดวัตถุประสงค์ข้อนี้ออก ด้วยเห็นว่า มีกองทุนหมุนเวียนอื่นที่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และมีเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ที่มีความเหมาะสมกว่า อาทิเช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.๒๕๓๕ หรือการจัดตั้งกองทุนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน ผ่านการออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน หากกำหนดวัตถุประสงค์นี้ไว้ในกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะทำให้เกิดความ ซ้ำซ้อน ขัดต่อวัตถุประสงค์หลัก และสร้างภาระอันไม่สมควรต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
     ๑.๔ ไม่เห็นด้วยที่จะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำหน้าที่รองรับนโยบายในลักษณะประชานิยมของรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชนบางกลุ่ม อันเป็นลักษณะการเก็บเงินจากประชาชนแล้วมาจ่ายให้ประชาชนด้วยกันเอง ขอให้ตัดวัตถุประสงค์ข้อนี้ออกไป ด้วยเห็นว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เป็นจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะนำรายได้ดังกล่าว มาจัดสรรหรือพัฒนาเพื่อการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการอุดหนุนส่งเสริมบริการขนส่งสาธารณะโดยที่ไม่ต้องปรับขึ้นราคาค่า บริการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและไม่เพิ่มภาระแก่ประชาชนโดยทั่วไปด้วย
     ๑.๕ ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้เพื่อการสำรองน้ำมันทาง ยุทธศาสตร์ หรือลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ขอให้ตัดวัตถุประสงค์ในข้อนี้ออกไป ด้วยเห็นว่ารัฐบาลควรนำรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในกิจการปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มาดำเนินการในเรื่องนี้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ จนถึงปี ๒๕๕๗ (จากรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติล่าสุด) รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น ๑,๕๗๕,๕๔๔ ล้านบาท ประกอบด้วยค่าภาคหลวง ๖๑๕,๘๕๓ ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ๔๗,๒๕๕ ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ๙๑๒,๔๓๖ ล้านบาท จึงควรพิจารณาที่จะนำเงินรายได้ส่วนนี้มาเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ให้แก่ประเทศ มิใช่มาเบียดบังประชาชนผ่านการเก็บเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก และเห็นควรให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันหรือพลังงานแห่งชาติขึ้นมาโดยเร็ว เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมและระบบโครงสร้าง พื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอันถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน

๒. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... กำหนดให้มีไม่เกิน ๑๘ คน มีความเห็นดังนี้
      ๒.๑ การกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และปลัดกระทรวงพลังงานเป็นรองประธานกรรมการแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำข้าราชการในบังคับบัญชาของกระทรวงพลังงานมาเป็น กรรมการโดยตำแหน่งร่วมอีก ๓ คนแต่อย่างใด ซึ่งรวมแล้วทำให้กรรมการเป็นบุคคลของกระทรวงพลังงานถึง ๕ คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงานสามารถบัญชา เรียกหาข้อมูล หรือความเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงได้อยู่แล้ว จึงขอให้ตัดกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการระดับอธิบดีของกระทรวงพลังงาน ออกทั้งหมด
      ๒.๒ องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้ร่างกฎหมายฉบับ นี้ ไม่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอยู่เลย ควรให้มีผู้แทนจากภาคประชาสังคมในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการติดตามตรวจสอบกิจการพลังงาน ด้านธรรมาภิบาล ด้านการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น เข้าร่วมเป็นกรรมการอย่างน้อย ๓ คน เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรงของ ประชาชน
      ๒.๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควรกำหนดให้มีจำนวนที่ชัดเจน ไม่ควรใช้ข้อความว่า “จำนวนไม่เกิน ๔ คน” และควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแบ่งเป็นด้านต่างๆที่เกี่ยว ข้องให้ชัดเจน เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านพลังงาน ด้านสังคม และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านละหนึ่งคน เพื่อป้องกันการผูกขาดความคิดของผู้ทรงคุณวุฒิบางกลุ่มบางพวก
๒.๔ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิว่า “ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๕” ออก ด้วยเห็นว่า การร่างกฎหมายในลักษณะนี้ มีเจตนารมณ์ปิดกั้นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเห็นต่างไปจากกระทรวงพลังงาน ไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินการของกองทุนน้ำมันฯ ได้เลย ข้อให้ตัดข้อความในลักษณะนี้ออกไปเสียทั้งหมด

๓. การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ควรกำหนดในกฎหมายให้มีเพดานการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเพื่อมิให้เป็นภาระ แก่ประชาชนมากจนเกินไป และการนำเงินไปใช้จ่ายใดๆ ให้ถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียด ครบถ้วน รวดเร็ว ต่อสาธารณชน ผ่านทางช่องทางสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงได้สะดวก

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาแก้ไขปรับปรุง “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .............” ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

(นางสาวบุญยืน ศิริธรรม)
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน

พิมพ์ อีเมล