เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งข้อสังเกตประสิทธิภาพการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อกรณีสิทธิบัตรยา พบว่าขั้นตอนทางกฏหมาย ระเบียบต่างๆ และระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่คลาดเคลื่อน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการติดตามและคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยา และเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า ช่องโหว่เหล่านั้นเปิดโอกาสให้บรรษัทยาข้ามชาติใช้ประโยชน์เพื่อผูกขาดตลาดยาซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นของประชาชน
19 พ.ย. นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า “ กรณียาโซฟอสบูเวียร์ ที่เป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่กำลังเป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะมีราคาแพงถึงเม็ดละ 30,000 บาท และมีข้อมูลทางเภสัชศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าไม่ได้เป็นยาใหม่ และไม่สมควรที่จะได้รับสิทธิบัตร เพื่อไม่ให้เกิดสิทธิบัตรที่ไม่สมควรและทำให้บริษัทยาผูกขาดการขายได้ถึง 20 ปี การยื่นคัดค้านคำขอตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นแนวทางที่จะทำการตัดไฟแต่ต้นลม แต่เรากลับพบอุปสรรคในการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ไม่ว่าการกำหนดระยะเวลายื่นคัดค้านที่ให้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าสั้นมาก รวมทั้งปัญหาการค้นข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาในการออกประกาศที่แน่นอน รวมทั้งข้อมูลบนเวบไซด์ของกรมฯยังมีความสับสน ไม่เป็นปัจจุบัน เพราะทำให้การยื่นคัดค้านสิทธิบัตรยา เป็นเรื่องยากลำบาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมเอกสารหลักฐานจำนวนมาก เพื่อหักล้างข้ออ้างถือสิทธิ์คุ้มครองในคำขอฯ เหล่านั้นได้ทันเวลา”
“ในกรณีข้อมูลคำขอสิทธิบัตรที่ไม่เป็นปัจจุบัน ทางมูลนิธิฯเองได้มีความพยายามในการสืบค้น ทั้งตามช่องทางที่กรมฯกำหนด รวมทั้งการทำจดหมายเพื่อสอบถามอย่างเป็นทางการ แต่เราก็พบว่าคำตอบที่กรมฯตอบกลับมายังมีความไม่ชัดเจน ข้อมูลสับสนและผิดพลาด ตัวอย่างกรณียาโซฟอสบูเวียร์ที่รักษาตับอักเสบซี
เราพบว่าข้อมูลที่เราสืบค้นได้ไม่ตรงกับของกรมฯ ในเรื่องจำนวนคำขอฯ ของยาโซฟอสฯ ที่ปรากฎบนหน้าสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.58 เราจึงมีจดหมายไปถึงกรมฯ เพื่อขอคำยืนยัน มูลนิธิฯ ได้รับจดหมายตอบลงวันที่ 24 ก.ย.58 ระบุว่ามีคำขอฯ ที่เกี่ยวกับยาโซฟอสฯ ทั้งหมด 13 ฉบับ แต่เราได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบซ้ำอีกครั้งกลับพบว่าไม่น่าที่จะถูกต้อง เพราะมี 2 ใน 13 คำขอฯ ที่ไม่ใช่ยาโซฟอสฯ”
“นอกจากยาโซฟอสฯ แล้ว เรายังพบว่าคำขอฯ ของยาต้านไวรัสสูตรสำรองที่กำลังพิจารณาคำขอฯ อยู่ ข้อมูลสถานะการพิจารณาฯ ที่ปรากฏบนเว็บไซด์ของกรมฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.58 ไม่ตรงกับข้อมูลในจดหมายลงวันที่ 6 ต.ค. 58ที่กรมฯ ตอบกลับมา โดยมีข้อมูลสถานะไม่ตรงกันจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเป็นคำขอฯ สำหรับยาดารูนาเวียร์ ยาอาทาสนาเวียร์ และยาราเท็คกราเวียร์” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า “ทางมูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความสงสัยเคลือบแคลงใจอย่างยิ่ง ต่อประสิทธิภาพและบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ควรมีหน้าที่พัฒนาระบบสืบค้นคำขอสิทธิบัตร การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่ถือว่ากรมฯต้องทำควบคู่กับการคุ้มครองผู้ผลิต แต่สิ่งที่พบกลับไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบเหล่านี้ ทั้งๆที่ภาคประชาสังคมซึ่งติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโดยตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นายนิมิตร์ ยังกล่าวต่อว่า “กรณีตัวอย่างการติดตามการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรฉบับหนึ่งของยาโซฟอสบูเวียร์ คำขอฯ เลขที่ 1001000775 มูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรมีการแก้ไขวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรจากวันที่ 24 พ.ค. 2553 เป็นวันที่ 20 พ.ค. 2553 มูลนิธิฯ ได้มีจดหมายถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอคำชี้แจง กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีจดหมายตอบ ลงวันที่ 6 ต.ค. 2558 ชี้แจงว่า กรมฯ ได้มี “ประกาศขยายระยะเวลาและการดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่มีการชุมนุมทางเมือง” เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2553 ซึ่งอนุญาตให้บุคคลใดที่ไม่อาจดำเนินการยื่นคำร้อง คำขอจดทะเบียนหรือดำเนินการอย่างหนี่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 17-25 พ.ค. 2553 อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใดที่ล่วงมาแล้วได้
“เรามีข้อสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวมีผลย้อนหลัง และมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ยื่นคำขอฯ กลับไปเป็นวันที่ 20 พ.ค. 2553 อาจมีผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการที่จะหาหลักฐานข้อมูลอ้างอิงประกอบการยื่นคำขอรับฯ หรือการคัดค้านคำขอรับฯ ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศออกมาและเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ในกรณีเกิดเหตุการณ์สุดวิสัย แต่จากสิ่งที่เราติดตามมาโดยตลอด ไม่ว่ากรณีที่มีการออกสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับสิทธิของกรมฯ การไม่มีแนวทางในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกรมฯ ต่อกรณีดังกล่าวจึงทำให้เราเคลือบแคลงใจ ในการดำเนินงานของกรมฯ เราจึงขอตั้งข้อสังเกตต่อกรณีไว้ด้วย”
ด้านนายสมชาย นามสพรรค ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเป็นผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า “ตนเองเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่กำลังรอรักษาด้วยยาโซฟอสฯ ซึ่งยาตัวนี้เป็นยาที่กำลังถูกคัดค้านไม่ให้ได้รับสิทธิบัตรผูกขาดตลาดในหลายๆ ประเทศ แต่ด้วยระบบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรที่มีช่องโหว่แบบนี้ ทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะคัดค้าน และทำให้รัฐบาลสามารถไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกมาให้กับผู้ป่วยในประเทศ ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีทางเลือกในการรักษาน้อยลง”
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ลำพังการสืบค้นข้อมูลและการยื่นคัดค้านฯ ให้ทันก็เป็นเรื่องยากมากพออยู่แล้ว ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องยิ่งทำให้การคัดค้านและติดตามให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมผลิตยาชื่อสามัญออกมาได้ทันทีที่สิทธิบัตรหมดอายุหรือถูกยกเลิกคำขอฯ ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาเราพยายามเข้าพบทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฯเพื่อขอให้มีการรีบเร่งตรวจสอบ และพัฒนาระบบ แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า”
ทั้งนี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รีบเร่งพัฒนาระบบโดยต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีแผนการพัฒนาแบบไหน และดำเนินการไปอย่างไรแล้ว รวมทั้งควรมีการแสดงความก้าวหน้าในการนำคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยาที่มีการพัฒนาไว้ออกมาให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนจะมีการติดตามกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป