จากการที่มีข้อความส่งต่อกันมาทางไลน์ว่า “กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สมาคมโฮมีโอพาธีย์ประเทศไทย สร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประชาชนเพื่อชาติ แจกยาสำหรับผู้ที่ต้องการตำรับโฮมีโอพาธีย์ Bryonia alba 200C เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันตัวเอง ให้ติดต่อขอรับได้ฟรี ที่กองการแพทย์ทางเลือกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ในวันและเวลาราชการนั้น
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว คือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดการปัญหาตามกฏหมาย และทบทวนการดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย และขอเสนอแนะให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและตามแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ดังนี้
1. Bryonia alba 200C เป็นยาตามศาสตร์โฮมีโอพาธีย์ซึ่งยังไม่ได้รับรองตามกฎหมาย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาตามกฎหมายยาของไทยได้ การผลิตยาโฮมิโอพาธีย์โดยสมาคมแห่งหนึ่งซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน แล้วแจกจ่ายโดยหน่วยงานราชการ โดยแจ้งว่ามุ่งหมายเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ผู้ที่มีความเสี่ยง และผู้ที่มีอาการ ตามที่ระบุในฉลากยา ถือว่าเป็นเป็นการผลิตยาและขายยาตามนิยามในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ การผลิตและแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายยาโดยมีหน่วยงานราชการสนับสนุน และจะเป็นตัวอย่างให้มีผู้นำไปอ้างเหตุเพื่อกระทำในทำนองเดียวกันได้
2. แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในการพิจารณารายการยาที่จะใช้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ (ทั้งยาที่ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และยาที่ผลิตเองโดยสถานบริการสาธารณสุข) จะใช้การพิจารณาโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ซึ่งจะทำหน้าที่ในการพิจารณารายการยาที่จะใช้โดยสถานบริการสาธารณสุขนั้น ๆ (ทั้งในด้านประสิทธิผล ความปลอดภัย และความคุ้มค่า) ในกรณี Bryonia alba 200C กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และกรมฯ สมควรพิจารณารับรองยาที่ยังมีปัญหาในทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทดลองใช้หรือไม่
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศ ภายใต้แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงขอเสนอให้ อย.ดำเนินการตามกฏหมาย และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยกเลิกกิจกรรมการแจกยาดังกล่าว และจัดทำเป็นโครงการวิจัยเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้การใช้ยาโฮมิโอพาธีย์ในคนไทย และผู้ใช้ยาจะได้ตระหนักว่าตนเองมีสถานะเป็นอาสาสมัครที่ยินยอมใช้ยาที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย และจะได้รับการชดเชยความเสียหายหากมีความไม่ปลอดภัยด้วยประการใด ๆ เกิดขึ้น