องค์กรผู้บริโภค นัดฟ้อง สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ทั่วประเทศ พร้อมเรียกร้องให้เร่งประกาศรายชื่อองค์กรที่ผ่านการจดแจ้งระดับจังหวัด
วันนี้ ( 22 กรกฏาคม 2563) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) เตรียมการฟ้องสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะนายทะเบียนกลางรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคต่อศาลปกครอง เพื่อให้เลิกสร้างขั้นตอน ยื้อการประกาศชื่อองค์กรที่ผ่านระดับจังหวัด ทำให้กระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้ากว่า 1 ปี มีเพียง 94 องค์กรที่ผ่านการรับรองจาก สปน. จากเป้าหมายอย่างน้อย 150 องค์กร
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กร มารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภค เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ "เราพบว่าผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว สปน. ยังไม่สามารถดำเนินการรับจดแจ้งองค์กรให้ครบ 150 องค์กรตามกฎหมายได้ ซึ่งเมื่อได้ย้อนไปดูการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจดแจ้งองค์กร วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 พบว่า มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายหลายประการ เช่นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็น สคบ. ในจังหวัดต่างๆ ยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรภาคประชาชน นำมาสู่การเป็นภาระให้องค์กรเหล่านี้ต้องแสดงตัวตน แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์" ประธาน คอบช. กล่าว
สุภาพร กล่าวถึงปัญหาที่พบจากการไปจดแจ้งฯ อีกว่า ปัญหาเรื่องการตีความลักษณะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมายของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 5 (คุณสมบัติของกรรมการองค์กรของผู้บริโภค) และมาตรา 6 (หลักฐานแสดงผลงานขององค์กรผู้บริโภค) กลายเป็นอุปสรรคในการรับรองสถานะองค์กร เช่น หากมีอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมเป็นคณะกรรมการองค์กรเพียงหนึ่งคน ก็ถูกตีความว่าองค์กรนั้นถูกจัดตั้งหรือถูกครอบงำโดยหน่วยงานรัฐ เป็นต้น รวมถึงปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาซึ่งพบว่า บางองค์กรเมื่อได้รับแจ้งผลว่าไม่รับจดแจ้ง ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านผลต่อนายทะเบียน จนเรื่องถึง สปน.แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการแจ้งผลแต่อย่างใด รวมถึงมีบางองค์กรที่ผ่านการจดแจ้งจาก สปน. ได้รับ อกผ.3 แต่เมื่อตรวจดูวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้นพบว่าเกี่ยวข้องและอาจอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ ดังนั้น จึงขอเสนอให้ สปน. จัดเวทีกับนายทะเบียนทุกจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการตีความองค์กรผู้บริโภค การออกเลขจดแจ้งให้ถูกต้อง รวมถึงกระบกวนการแก้ไขตามที่ สปน.กำหนด และให้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกามาชี้แจงเรื่องการตีความด้วย
ด้านบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว มีการเตะถ่วงมาโดยตลอด นับแต่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ไม่ยอมใช้มาตรฐานตาม พรบ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เราพบว่ามีปัญหาอย่างมากในการประสานงานข้อมูลกันระหว่างนายทะเบียนกลางคือ สปน. กับนายทะเบียนจังหวัด ปัจจุบันเราทราบว่ามีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งจากนายทะเบียนระดับจังหวัด (ใบอกผ.2) มากกว่า 150 องค์กร แต่ สปน.ในฐานะนายทะเบียนกลาง ตรวจสอบและประกาศชื่อเพียง 94 องค์กร ส่วนหนึ่งเราพบว่ามีปัญหาที่การออกเลขจดแจ้งของนายทะเบียนบางแห่ง ที่ออกเลขจดแจ้งผิด และแทนที่จะรีบแก้ไขเพื่อรักษาประโยชน์ให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านจดแจ้ง กลับแจ้งให้องค์กรผู้บริโภคไปยื่นเรื่องใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างภาระ และไม่เป็นธรรมต่อองค์กรผู้บริโภคอย่างมาก ตอนนี้ องค์กรผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งวันนี้ ได้มีการประชุมกัน และ สสอบ. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งระดับจังหวัด แต่ยังไม่ได้รับการประกาศชื่อ (อกผ.3) จากนายทะเบียนกลาง ในการฟ้องสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครองทั่วประเทศ
ขณะที่สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ตอนนี้ผ่านมาเกือบปีแล้ว “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด สายการบินที่แจ้งยกเลิกการให้บริการแต่ไม่ยอมคืนเงินให้ผู้บริโภค ผลกระทบของการที่ประเทศไทยเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือแม้กระทั่งปัญหาภัยออนไลน์ต่างๆ ที่มาในยุคบริโภคออนไลน์
ถ้ามี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง อาญากับผู้ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบ หลอกลวงผู้บริโภค มีตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นทางการในการให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานในการทำข้อตกลงใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค
เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค สปน. ควรช่วยสนับสนุนให้เกิดการตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค โดย สปน. ควรเร่งประกาศรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาจากนายทะเบียนจังหวัด นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา และกำหนดมาตรฐานขั้นตอนในการพิจารณาการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ( Standard of Procedure)