“กองทุนแสงอาทิตย์” ส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง พร้อมเปิดตัวเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจาคของประชาชน
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ที่โรงพยาบาลท่าสองยาง เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าว และส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลท่าสองยาง นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์
โดยในช่วงเช้ามีกิจกรรมวิ่งการกุศล “กินลมชมเมย” เพื่อระดมทุนให้กับกองทุนแสงอาทิตย์ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายรับบริจาคเงินทั่วประเทศเพื่อการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลท่าสองยางจังหวัดตากเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย
โรงพยาบาลท่าสองยาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยเริ่มต้นจากโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง จนกระทั่งได้ขยายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ให้บริการดูแลทั้งประชาชนชาวไทย ชาวปกากะญอ และชาวเมียนมาร์ เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นพื้นที่ป่าเขาสูง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ทั้งยังมีพื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดชายแดนรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมาร์หรือพม่า ริมแม่น้ำเมยด้วย
ปัจจุบัน โรงพยาบาลท่าสองยาง มีอาคารทั้งหมด 6 หลัง ให้บริการผู้ป่วยนอก 300 รายต่อวัน ผู้ป่วยในเฉลี่ย 60 รายต่อวัน หรือสูงสุดประมาณ 90 รายต่อวัน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของโรงพยาบาลท่าสองยาง คือประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นปีละประมาณ 3,600,000 บาท ทั้งยังต้องแบกรับภาระหนี้ค่ายาและเวชภัณฑ์กว่า 30 ล้านบาทในปี 2562 การติดตั้งโซล่าเซลล์ของโรงพยาบาลท่าสองยางมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 35.10 กิโลวัตต์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,070,000 บาท คาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานต่อเนื่องถึง 25 ปี
นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ท่าสองยาง กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลท่าสองยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนของผู้ป่วย ดังนั้น การนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปผลิตไฟฟ้าจึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลฯ ได้ และโรงพยาบาลสามารถนำเงินส่วนต่างเหล่านั้นไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย หรือเป็นค่าเครื่องมือทางการแพทย์และการบริการต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสของโรงพยาบาลในการช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย
ผศ. ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นำพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์มีการพัฒนามากขึ้นและมีราคาที่ถูกลง ดังนั้น การลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ของโรงพยาบาลจะทำให้เกิดการคุ้มทุนภายในระยะเวลา 5 ปี อีกทั้งยังสามารถลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มมากขึ้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังแสนอ และผลักดันให้ภาครัฐนำมาตรการ Net Metering หรือ การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยไปใช้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือนและอาคารต่างๆ เพื่อลดค่าไฟฟ้าและลดภาระการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศ
- กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง
- ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering ได้ที่ www.greenpeace.or.th/netmetering
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ที่โรงพยาบาลท่าสองยาง เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าว และส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลท่าสองยาง นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์