หากพูดถึงหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย หลายคนอาจจะนึกถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหน่วยงานกลางในการดูแลเรื่องฉลาก โฆษณา สัญญาทั่วไป หรือหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่อง อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น กรมการค้าภายใน ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าและบริการต่างๆ หรือแม้แต่ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คอยเป็นปากเสียงรักษาประโยชน์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ
กลับกันนั้นในฝั่งของผู้บริโภคยังไม่มีตัวแทนระดับประเทศที่เป็นทางการแม้แต่องค์กรเดียว...
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิด "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" ถือกำเนิดและก่อร่างสร้างตัวขึ้นในยุครัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 โดยมีอำนาจในการให้ข้อคิดเห็นในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง อีกทั้งไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ในเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือพูดให้ชัด คือ ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ
แนวคิดดังกล่าวได้ถูกผลักดันโดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งประกอบไปด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคหนึ่งร้อยกว่าองค์กร รวมทั้งกลุ่มผู้เสียหายด้านต่างๆ ได้พยายามรณรงค์เรื่องแนวคิดดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติเรื่องการรับรองสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วย ไว้ในมาตรา 61 ว่า ผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงและมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมถึงมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จากนั้นมีการผลักดันให้ออกกฎหมายร่วมกันกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และได้เสนอกฎหมาย ‘ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...’ แต่ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองก่อน จึงทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป ทั้งที่ผ่านกรรมาธิการร่วมของสองสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากนั้นในวันที่ 6 เมษายน 2560 ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงในเนื้อหานั้นได้กำหนดแนวคิดเกี่ยวกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญ ไว้ในมาตรา 46 ด้วย ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิผู้บริโภค การรวมตัวของผู้บริโภคเป็นองค์กรผู้บริโภค และการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อทำให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพในการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตราดังกล่าว ซึ่ง สคบ. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมาย โดยมีตัวแทนผู้บริโภคเป็นอนุกรรมการรวมอยู่ด้วย เมื่อมีการยกร่างกฎหมายก็มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ
ต่อมาช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปี 2560 สคบ. ได้นำความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ กลับมาปรับแก้ไขจนเป็นร่างกฎหมาย และในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายโดยใช้ชื่อกฎหมาย “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ คือ ต้องการให้มีสภาเดียวและเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ จากนั้นจึงส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเพื่อตรวจแก้ อีกทั้งได้ตั้งคณะพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าวโดยเฉพาะและได้เชิญตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมให้ความเห็น
หลังจากนั้นคณะพิเศษฯ นี้ก็ได้มีการตรวจแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนเนื้อหา รวมถึงเปลี่ยนชื่อกฎหมายฉบับนี้ไปเป็น “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ....” โดยมีการแก้ไขหลักการที่ผู้บริโภคเสนอในหลายเรื่อง อาทิ การทำให้การเป็นสภาเดียวหายไป จนทำให้เกิดระบบหลายสภาและมีกลไกการจดแจ้งสถานะองค์กร ตั้งนายทะเบียนทำหน้าที่รับจดแจ้ง โดยองค์กรผู้บริโภคที่มีสิทธิจดแจ้งต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาไม่น้อยกว่าสองปี อีกทั้งให้องค์กรผู้บริโภคที่จดแจ้งแล้วต้องรวมตัวกันให้ได้ครึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคทั้งหมดที่มาจดแจ้ง เพื่อนำมายื่นต่อนายทะเบียนกลางขอจดจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค รวมถึงมีงบสนับสนุนให้สภาองค์กรผู้บริโภคที่ตั้งขึ้นเป็นสภาแรกจำนวน 350 ล้านบาท จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าว โดยมีตัวแทนของผู้บริโภคได้รับเลือกเป็นคณะกรรมาธิการเพียง 1 คน
จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ออกกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง 159 เสียงเป็นเอกฉันท์ งดออกเสียง 3 เสียงและไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และกฎหมายดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม เป็นต้นไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.opm.go.th/opmportal/index.asp?pageid=1554&parent=1232&directory=14851&pagename=content1
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนองค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีผลงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองผู้บริโภค จดแจ้งองค์กร และร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค สำหรับกลุ่มคนที่มีการรวมตัวกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป และมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหาผลกำไร ให้ยื่นขอจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค โดยใช้แบบฟอร์ม แบบ อกผ. 1ก ส่วนนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้ยื่นสถานะคำขอสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค โดยใช้แบบ อกผ. 1ข