ร่อนหนังสือถึงประธาน กมธ.สาธารณสุข จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาหยุดแก้ไขกฎหมายเอื้อผูกขาดสิทธิบัตรยา ชี้ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับล่าสุดยังมี 2 มาตราสกัดการใช้มาตรการซีแอล ขัดข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ ของ สนช.
วันนี้ (27 กย. 61) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ (TRIPS) ด้านสาธารณสุขของไทยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนและ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับแก้ไข ซึ่งยกร่างโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ (ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาภายในองค์การการค้าโลก : TRIPS) ด้านสาธารณสุขของไทยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 39/2558 วันที่ 27 ต.ค. 2558 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ โดยในเดือน พ.ย. 2558 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอผลการศึกษาและเสนอแนะให้ระมัดระวังเรื่องมาตรการทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า “มาตรการทริปส์ผนวก” หรือ “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข
อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นทางระบบออนไลน์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่พบว่ายังมีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายให้มีมาตรการที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ ในมาตรา 51 และ 51/1 และประเด็นนี้ยังคงอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในมาตรา 51 วรรคสุดท้าย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอแก้ไขกฎหมายให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ได้ หากปรากฏว่าเหตุแห่งการอนุญาตได้หมดสิ้นไปและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นมาตราที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์ เนื่องจากในความตกลงทริปส์และ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับปัจจุบัน อนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องค่าตอบตอบแทนจากการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเท่านั้น การจะอนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้หน่วยงานรัฐยกเลิกมาตรการเพื่อใช้คุ้มครองประชาชน แม้จะมีเงื่อนไข แต่ถือเป็นการล่วงอำนาจการบริหารของประเทศ
เช่นเดียวกับมาตรา 51 และ 51/1 กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจประกาศใช้มาตรการใช้ซีแอลจำกัดอยู่แค่กระทรวงเท่านั้น ทั้งๆที่ตกลงทริปส์ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยใด แต่เปิดกว้างให้แต่ละประเทศกำหนดเอง และในกฎหมายฉบับปัจจุบันก็ระบุให้กระทรวง ทบวง และกรมมีอำนาจ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายให้จำกัดเฉพาะกระทรวง จะทำให้การใช้มาตรการใช้ซีแอลเป็นไปยากมากขึ้น
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการซีแอลยังขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งเรียกร้องให้ไม่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบทริปส์พลัสอยู่ในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อีกทั้งเป็นอุปสรรคทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้อีกด้วย เนื่องจากมาตราดังกล่าวทำให้เกิดการการผูกขาด ทำให้ยามีราคาแพงและเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คนเข้าไม่ถึงการรักษา
“ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเพื่อยื่นต่อ สนช. จึงขัดต่อมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 39/2558 รวมถึงไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในเรื่องการเข้าถึงยา เราจึงเสนอคณะกรรมาธิการสาธารณสุขพิจารณาและให้คำแนะนำต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหยุดแก้ไขมาตราดังกล่าวที่จะมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯอย่างเคร่งครัด”น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
อนึ่ง ประเทศไทยเคยประกาศใช้ซีแอลในปี 2549 และ 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการขาดแคลนยาจำเป็นเพราะการผูกขาดผ่านการจดสิทธิบัตรทำให้ยามีราคาแพง ทำให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต้านไวรัส HIV ได้มากกว่า 4,500 ล้านบาทในช่วงปี 2551 – 2554 อีกทั้งสามารถให้การรักษาและช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในยาเอฟฟาไวเรนส์ จากจำนวนไม่ถึง 5,000 คนก่อนประกาศใช้ซีแอลเป็นเกือบ 30,000 คนในต้นปี 2553 และในยาโลพินาเวียร์+ลิโทนาเวียร์ เพิ่มขึ้นจากศูนย์เป็น 7,000 คนในช่วงเดียวกัน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ ยาทั้งสองชนิดเป็นยาที่ใช้เป็นสูตรพื้นฐานและสำรองให้กับผู้ติดเชื้อนับแสนคนในแต่ละปี
เช่นเดียวกับยารักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงปี 2552 – 2554 ช่วยให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงนับแสนคนเข้าถึงการรักษาและไม่เสียชีวิต โดยงบประมาณที่ประหยัดได้นี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปจัดซื้อยาและขยายสิทธิประโยชน์การรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย