เมื่อวันที่ 27 มี.ค 60 ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้เข้าพบและยื่นหนังสือประเด็นข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างกฎหมาย กับคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ
โดยเสนอให้แยกออกมาทำเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคที่มีอำนาจเป็นตัวแทนและเป็นอิสระ พร้อมทั้งให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น หลังยกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เบื้องต้นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายฯ พลเอกสุชาติ หนองบัว กล่าวว่า "ยินดีและขอบคุณทุกท่านที่มาให้ความเห็น และจะขอนำความเห็นที่ได้เสนอในวันนี้ เข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการในช่วงบ่ายและหลังจากมีการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 46 ออกมาแล้ว จะเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้กระทบต่อสิทธิของประชาชน ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 77 วรรค 2"
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว มีดังนี้
1. กฎหมายฯ ตามมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีการจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ จึงไม่ควรนำไปอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นหน่วยงานรัฐ เนื่องจาก เจตนารมณ์ของมาตรา 46 มุ่งหมายให้ผู้บริโภคมีองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ที่มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และเกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
2. องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 46 ควรมีอำนาจหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
2.1) เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดําเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน
2.2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่มีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์ สิทธิของผู้บริโภค
2.3) สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมตัวกันของผู้บริโภคในการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภค
2.4) ให้คำปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
2.5) สนับสนุน การศึกษา วิจัย วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง อบรม เผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
2.6) สร้างความร่วมมือกับองค์กรผู้บริโภคในต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
3. ในการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ เพื่อให้องค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ถูกแทรกแซง สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ควรมีการกำหนดเงินอุดหนุนทั่วไปโดยรัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี โดยรัฐบาลพึงจัดสรรให้เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงานโดยอิสระขององค์กร
4. เนื่องด้วยปัญหาของผู้บริโภค มีความหลากหลาย และซับซ้อน ดังนั้น เพื่อให้เกิดองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นหนึ่งเดียว และเป็นองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 46 จึงควรมีองค์ประกอบของคณะกรรมการองค์กรฯ ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคในประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภค 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการเงินและการธนาคาร 2. ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 3. ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 4. ด้านบริการสุขภาพ 5. ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ 6. ด้านบริการสาธารณะ และ 7. ด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงมีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคที่มาจากการคัดเลือกกันเองขององค์กรผู้บริโภคในเขตภูมิภาคต่างๆ ทั้งหมด 8 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ควรทำหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ ระเบียบในการส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ และสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคองค์กรผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาสังคมในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมถึงดำเนินการและสนับสนุนการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง อบรม เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
5. ในการส่งเสริมและสนับสนุนรัฐในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิผู้บริโภค และช่วยให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อให้มาตรการบังคับใช้กฎหมายและยังช่วยสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในหลายครั้ง ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากได้รับความเสียหาย แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดกับผู้บริโภครายบุคคลอาจเป็นความเสียหายที่ตีค่าเป็นตัวเงินเพียงจำนวนเล็กน้อย ทำให้ผู้บริโภคในแต่ละรายที่ได้รับความเสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินการด้านคดี แต่ความเสียหายเมื่อตีค่าความเสียหายโดยรวมย่อมเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายให้สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ การให้องค์กรนี้มีบทบาทในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือบทบาทในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงเป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคในระดับชาติ ต้องคงบทบาทในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไว้และเป็นบทบาทสำคัญในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค