เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 1847
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์ – FTA Watch) และเครือข่ายอีกกว่า 20 องค์กรคัดค้านการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาเซ็ป (RCEP) ที่มีเงื่อนไขให้ประเทศสมาชิกและคู่เจรจายอมรับข้อผูกมัดทางทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าถึงยา ภาคเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และนโยบายสาธารณะ
ในการเสวนาวิชาการเรื่อง “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือ RCEP ไทยต้องแลกอะไรบ้าง และเราควรยอมหรือไม่” ที่จัดขึ้นที่โรงแรมอเชีย ราชเทวี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลหลักๆ 4 ประการ 1) การเจรจาความตกลง RCEP ต้องไม่นำเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า “มาตรการแบบทริปส์ผนวก” มาเจรจา ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาและภาคการเกษตร 2) การเจรจาฯ ต้องไม่นำเรื่องการคุ้มครองการลงทุนมาเจรจา เพราะจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ โดยเรียกร้องค่าเสียหายหรือให้ยกเลิกนโยบายหรือกฎระเบียบที่ออกมาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนในประเทศ และจะฟ้องร้องผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ไม่ใช่ศาลไทย 3) ประเทศไทยควรทำการศึกษาถึงผลกระทบของความตกลง RCEP ต่อระบบสุขภาพ เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และการกำหนดนโยบายสาธารณะ อย่างรอบด้าน โดยให้ภาคประชาชนสังคมมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง ก่อนที่จะลงนาม และ 4) การเจรจาข้อตกลง RCEP ไม่ควรที่จะดำเนินการอย่างเป็นความลับ ข้อมูลผลการเจรจาในแต่ละรอบควรจะเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้และมีส่วนร่วมได้
ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “มาตรการการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐ หรือ ISDS ในบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก เพราะจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค และการสาธารณสุข”
“มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วจำนวนมากในประเทศและต่างประเทศ ที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายหรือนโยบายเพื่อที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมของประเทศ แต่กับถูกบรรษัทเอกชนฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนมหาศาลและให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายนั้น และมาตรการ ISDS นี้ถูกผลักดันให้มีในการเจรจา RCEP ด้วย”
ดร. บัณฑูร กล่าวเสริมว่า “ข้อผูกมัด ISDS แบบนี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่นักลงทุนที่ใช้ขู่รัฐบาลไม่ให้มีนโยบายหรือออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม แต่จะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทเอกชน จนรัฐบาลอาจไม่กล้าดำเนินการได้”
“ถ้ายอมรับข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ใน RCEP ที่กำลังเจรจาอยู่ จะเป็นการขัดขวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยทั้งหมด และสิ่งนี้คือการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล”
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสดงความกังวลว่า การเจรจา RCEP มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเหมือนกับ FTA หลายฉบับ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยา ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยาไม่ให้ยาชื่อสามัญจดทะเบียนได้ ฯลฯ ทั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดได้ยาวนานมากขึ้น และยาจะมีราคาแพง
นายเฉลิมศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ประเทศที่เสนอข้อผูกมัดแบบทริปส์ผนวกใน RCEP ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มี FTA แบบทริปส์ผนวกไปกับสหรัฐฯ และพยายามนำเสนอมาตรการเดียวกันใน RCEP มีเพียงอินเดียประเทศเดียวที่มีท่าทีชัดเจนว่าคัดค้านทริปส์ผนวก แต่ถ้าประเทศอื่นๆ ใน RCEP รวมถึงไทย ยังมีท่าทีนิ่งเฉยอยู่เช่นนี้ การเจรจาอาจถูกกดดันให้ยอมรับทริปส์พลัสได้”
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า “สิ่งที่ญี่ปุ่นอยากได้มาก และสอดคล้องกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิคหรือ TPP คือเรื่องการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และต้องการให้ทุกประเทศลงนามในข้อตกลง UPOV ปี ค.ศ. 1991 ที่คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ใหม่ โดยไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอง ถึงขั้นให้ออกกฎหมายเอาผิดทางอาญากับเกษตรกร หากเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อ”
รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีฯ ยังได้เปิดเผยถึงความไม่พอใจของภาคประชาสังคมทั่วเอเชีย ต่อการเจรจาความตกลง RCEP ที่ปิดลับและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม แต่เปิดโอกาสให้เพียงกลุ่มธุรกิจเข้าร่วม ทำให้ภาคประชาสังคมในระดับสากล ภูมิภาค และระดับประเทศ กว่า 90 องค์กรได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกแสดงข้อกังวลและท้วงติงเรื่องดังกล่าว และส่งถึงรัฐบาล 16 ประเทศระหว่างการเจรจาที่จัดขึ้นที่ประเทศจีน
“ในการเจรจารอบล่าสุดที่กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ภาคประชาสัมคมถูกขับออกจากกระบวนการ ทั้งที่สองรอบของการเจรจาก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมมีโอกาสในการนำเสนอความคิดเห็น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นการยอมรับถึงความชอบธรรมของบทบาทของภาคประชาสังคมในการแสดงข้อกังวลต่อการเจรจาดังกล่าว เช่นเดียวกับในประเทศไทย นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร กระบวนการหารือรับฟังความคิดเห็นเหลือเพียงการรายงานและรับฟังแต่กับกลุ่มธุรกิจเท่านั้น กรณีของ RCEP กระทรวงพาณิชย์ได้เคยส่งตัวแทนไปรายงานให้สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมฟังถึงสำนักงาน แต่ไม่เคยจัดกระบวนการเช่นนี้กับภาคประชาสังคมหรือแม้แต่แวดวงวิชาการเลย”
ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า การเจรจาความตกลง RCEP จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การอยู่รอดของเกษตรกรรมและธุรกิจรายย่อย ความมั่นคงทางการเงิน องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งประชาชนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทราบถึงสิ่งที่มีการเจรจา และควรมีโอกาสในการแสดงความเห็นและข้อห่วงใย นำเสนอผลการวิเคราะห์และข้อแนะนำให้แก่ผู้เจรจา มีแต่ผู้ได้ผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้นที่ได้รับเชิญเพื่อแสดงความเห็นต่อคณะเจรจา ในขณะที่กระบวนการเจรจา RCEP ยังคงปิดกั้นภาคประชาสังคมอยู่ กลุ่มภาคประชาสังคมหวังที่จะเห็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจะเกิดขึ้นอีกในการเจรจาครั้งต่อไปที่กรุงเพิร์ธ ออสเตรเลีย และรอบถัดไปที่โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์
ความตกลง RCEP คือ ความตกลงการค้าระดับภูมิภาคระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 6 ประเทศ ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เริ่มเจรจามาครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่บรูไน และจะมีการเจรจาครั้งที่ 15 ที่จีนในระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2559 ซึ่งมีความพยายามที่จะเจรจาให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2559