จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ ๒.๑ GHz ให้คิดค่าโทรไม่เกิน ๐.๘๒ บาท/นาที ส่วนค่าบริการประเภทข้อมูลหรืออินเทอร์เน็ตไม่เกิน ๐.๒๘ บาท/MB ขณะที่คลื่นความถี่ ๑๘๐๐ MHz และ ๙๐๐ MHz ให้คิดค่าโทรต่ำกว่า ๐.๖๙ บาท/นาที ส่วนค่าบริการประเภทข้อมูลให้คิดต่ำกว่า ๐.๒๖ บาท/MB นั้น
นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเลขานุการ คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ให้สัมภาษณ์ว่า สนับสนุน กสทช.ในการดำเนินงานเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาโดยตลอด การคิดคำนวณค่าโทรศัพท์ ผู้ประกอบการปัดเศษเป็นนาที ไม่ได้คิดตามการใช้งานจริง ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภคจึงเรียกร้องการคิดค่าบริการตามจริงให้สอดคล้องกับการใช้งาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และการออกแนวทางเช่นนี้มาจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมา กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร
“แม้ผู้ประกอบการจะบอกว่าราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อน แต่ภายใต้ราคาที่ถูกลงก็ยังมีการเอาเปรียบอยู่ และผู้บริโภคก็สับสนในการเก็บค่าบริการมาก คือพอไม่มีอัตราอ้างอิงก็จะคิด ๑.๕๐ บาทบ้าง ๒ บาทบ้าง เป็นการกำหนดจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียว อำนาจต่อรองของผู้บริโภคมีน้อยกว่า การที่ กสทช.ออกประกาศมาโดยมีเงื่อนไขการคิดค่าโทรเป็นวินาทีจะช่วยให้เกิดสมดุลในเรื่องอำนาจต่อรองของผู้บริโภค เกิดความเสมอภาคในการใช้บริการ และได้ราคาที่เป็นธรรม” นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คอบช. ได้มีหนังสือเรื่อง “ความเห็นต่อแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ” ต่อ กสทช. จำนวน ๕ ข้อดังนี้
๑.เห็นด้วยที่กำหนดแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ ๒.๑ GHz, ๑๘๐๐ MHz และ ๙๐๐ MHz ด้วยการระบุเพดานอัตราค่าบริการของบริการแต่ละประเภท ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าใจได้ง่ายและตรวจสอบได้ รวมถึงกำหนดอัตราค่าบริการข้อมูลเป็นหน่วย GB ด้วย
๒.ให้ กสทช.ตรวจสอบรายการส่งเสริมการขายระบบเติมเงินทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเคร่งครัด
๓.กสทช.ควรสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค ทั้งเรื่องของคลื่นความถี่ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริการ รวมทั้งแจ้งอัตราค่าบริการที่ กสทช.ดูแล เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบบริการของตัวเอง
๔.การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการใช้คลื่นความถี่หลายย่านคลื่นผสมกัน โดยบริการที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน ๑๘๐๐ MHz และ ๙๐๐ MHz ในการให้บริการร่วมด้วย จะต้องคิดค่าบริการตามอัตราเพดานของคลื่นความถี่ ๑๘๐๐ MHz และ ๙๐๐ MHz
๕.เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงสำหรับบริการเสียงในหน่วยวินาที และ กสทช.ควรมีแผนเพื่อยุติการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที และควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นนาที เช่น ๓ เดือน หรือ ๖ เดือน ก่อนเข้าสู่การคิดค่าบริการตามจริงทั้งระบบ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต