เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะครอบครัวของผู้เสียหายให้ฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องความเสียหาย ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยฯ เร่ง สคบ.เสนอกฎหมายจัดการสินค้าไม่ปลอดภัยทันที
จากกรณีที่มีผู้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากหมามุ่ยอินเดียชนิดแคปซูล แล้วเกิดอาการแพ้ จนเสียชีวิตนั้น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งคนที่ต้องรับผิดมี ๔ กลุ่มคือ ๑.ผู้ผลิตหรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต ๒.ผู้นำเข้า ๓.ผู้ขาย และ ๔.ผู้ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้า คือหมายถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต้องร่วมรับผิดชอบทั้งหมด
“ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้ เพื่อเรียกร้องความเสียหายทั้งจากการสูญเสียชีวิตและจิตใจของครอบครัว ซึ่งการฟ้องคดีจะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าหากผลิตสินค้าที่เป็นอันตรายแล้วจะถูกฟ้องได้ จะได้ระมัดระวังมากขึ้น และทำให้ครอบครัวนี้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” เลขาธิการฯ กล่าว
นางสาวสารี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีนี้เข้าข่ายที่บริษัทต้องรับผิดชอบจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากผู้เสียหายจะได้รับค่าสินไหมตามที่กำหนดแล้ว ศาลกำหนดให้เยียวยาเชิงลงโทษได้ คืออาจให้มากกว่าที่ผู้เสียหายขอ โดยภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้ขาย และฟ้องคดีได้ภายใน ๓ ปี ซึ่งผู้เสียหายสามารถไปฟ้องคดีเอง โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ปรึกษาสภาทนายความในจังหวัด หรือปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้
ด้าน รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นว่า จากกรณีดังกล่าว ผู้ขายต้องรับผิดชอบ เนื่องจากมีคนเสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น และหากประเทศไทยมีกฎหมายที่แจ้งเตือนภัยก็จะช่วยป้องกันอันตรายให้กับคนหมู่มากได้ทัน อย่าง พ.ร.บ.แจ้งเตือนภัยและการจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะกฎหมายฉบับนี้จะปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสิทธิด้านความปลอดภัย ก็จะมีการเตือนได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน
“กฎหมายนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ผลิต นำเข้า และขายสินค้าที่ปลอดภัย โดยให้มีคำเตือนและวิธีใช้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้สินค้าไม่ถูกต้อง และหากพบภายหลังว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัยก็ต้องเก็บสินค้าออกจากตลาดและแจ้งข่าวให้ผู้บริโภคทราบ คือ บริษัทจะรีรอให้รัฐสั่งไม่ได้ ต้องทำทันที” รศ.ดร.ภก.วิทยา กล่าว
ประธานคณะทำงานฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง จะมีบทลงโทษที่ตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดอีก และการทำให้เกิดอันตรายก็จะได้รับโทษหนักขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรเร่งเสนอกฎหมายนี้ให้คณะรัฐมนตรีรับรองและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยด่วน