จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้รัฐบาล ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหนังสือขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) วินิจฉัยว่ากระทรวงการคลัง และ ปตท.กับพวกฝ่าฝืนมติ ครม. และ คตง.มีคำสั่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบนั้น
ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า คตง.พิจารณาผลการตรวจสอบของ สตง.แล้วมีมติดังนี้ คือ ๑.ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนมีการแปรรูปและส่งมอบให้ ปตท. ๒.อดีต รมว.กระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กับพวกฝ่าฝืนมติ ครม.และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซฯ ไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดขาดไปคิดเป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ รวมทั้งยื่นคำร้องเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่าส่งมอบท่อก๊าซฯ ครบถ้วนแล้ว
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวต่อไปว่า ๓.คตง. มีมติส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีต รมว.กระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กับพวก รวมถึงให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิดด้วย และ ๔.ขอให้นายกฯ รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซฯ ที่ขาดไปคิดเป็นเงิน ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง และให้ ครม.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีต่อไปภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจาก สตง.
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า คตง.ได้ข้อสรุปว่า ๑.การแบ่งแยกท่อก๊าซฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ๒.การแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินของ ปตท.ไม่เป็นไปตามมติ ครม.วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ ๓.การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ๔.มีการแจ้งเนื้อหาเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด
“แม้ตัวเลขค่าเช่าท่อจะไม่มาก คือไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อราคาหุ้นของ ปตท. เพราะอยู่ในฐานะที่จ่ายได้ แต่เมื่อการตรวจสอบได้ชี้ชัดมาแล้วก็ถือเป็นความผิดที่ไม่ทำตามมติ ครม.และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐไม่ได้ผลประโยชน์ครบถ้วน ซึ่งสิ่งสำคัญคือความเสียหายจะมีการเยียวยาบรรเทา โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีส่วนได้เสียอะไร เห็นว่าก็น่าจะรีบดำเนินการ เพราะความเสียหายของรัฐต้องรีบบรรเทาเยียวยา ” นายพิศิษฐ์กล่าว
ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นว่า สตง.และ คตง.พิจารณาเฉพาะส่วนที่มูลนิธิฯ ร้องว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เรื่องการไม่คืนท่อก๊าซฯ แต่การคืนท่อก๊าซฯ เป็นมหากาพย์ คือ หากดูประเด็นทั้งหมดจะมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่านี้ นี่เป็นส่วนย่อยเพียงส่วนเดียว อย่างทรัพย์สินที่มีการคืนก็ใช้ราคามูลค่าบัญชีปี ๒๕๔๔ แต่ต่อมามีมูลค่าเพิ่ม และเก็บค่าเช่าท่อเพิ่ม ซึ่ง สตง.ไม่ได้พิจารณาจากส่วนนี้ หรือทรัพย์สินส่วนอื่น เช่น หุ้นบริษัท ทรานส์ไทยมาเลเซีย ซึ่งตัวเลขที่เคยทำอยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทไม่ใช่ ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท
“อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปการทุจริต อยากให้มีการตรวจสอบครบถ้วนมากกว่านี้ อยากให้นายกฯ ทำเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใส เพราะทรัพย์สินอันไหนที่เป็นของบ้านเมืองก็ให้กลับมาเป็นของบ้านเมือง ให้เป็นประโยชน์ของประชาชนทั้งแผ่นดิน” นางสาวรสนา กล่าว