เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และองค์กรภาคีจัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย” โดยภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “รถโดยสาร ๒ ชั้นทุกคันต้องผ่านการทดสอบการลาดเอียง” ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์อุบัติเหตุของประเทศไทยว่าเป็นอันดับ ๒ ของโลก ซึ่งรถโดยสาร ๒ ชั้นเป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสาร ๒ ชั้น เฉลี่ยเกิดขึ้นปีละ ๕๐ – ๖๐ ครั้ง และการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสาร ๒ ชั้นมีความเสี่ยงสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง ๖ เท่า
“สาเหตุหลักอาจมาจากคนส่วนหนึ่ง แต่การออกแบบและโครงสร้างของรถ ถ้ายานพาหนะปลอดภัย จะทำให้ความสูญเสียต่างๆ น้อยลง คือ เราอาจต้องมาวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าสาเหตุที่นอกจากคน โครงสร้างรถ หรือสภาพรถมีส่วนด้วยหรือเปล่า คือต้องไม่ลงที่คนอย่างเดียว ทั้งที่โครงสร้างรถก็มีความสำคัญ” ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าว
นายคงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการพลิกคว่ำของรถโดยสาร ๒ ชั้นมีความสำคัญ เพราะรถค่อนข้างสูงมาก การวิ่งด้วยความเร็วบนถนนที่มีความเสี่ยง เช่น ทางโค้ง ทางลาด ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือความรุนแรงได้ ซึ่งอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด เช่น คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง รถเก่า รถชำรุด ถนนลาดชัน ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตคือโครงสร้างรถที่ไม่ปลอดภัย เช่น โครงขึ้นสนิมแล้วทาสีทับใหม่ หรือไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้
ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวถึงข้อเสนอว่า ๑.ให้รถโดยสาร ๒ ชั้นทุกคันต้องผ่านการทดสอบการลาดเอียง ๒.ผู้บริโภคควรมีสิทธิเลือก และควรต้องรู้ว่ารถคันใดผ่านการทดสอบการลาดเอียง หรือติดระบบ GPS แล้ว โดยมีสัญลักษณ์ หรือสติ๊กเกอร์บอก เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค ๓.จำกัดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสาร ๒ ชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และ ๔.การติดตั้งระบบ GPS ควรเชื่อมโยงการทำงานเชิงรุกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง หรือสำนักงานขนส่งประจำจังหวัด เป็นต้น
ด้าน ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า รถโดยสารที่ให้บริการอยู่นั้น ผู้โดยสารไม่รู้หรอกว่ารถผ่านมาตรฐานใด นั่นคือปัญหาที่มีในขณะนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่เคยบอกอะไรเลยกับผู้บริโภคว่ารถที่ใช้บริการอยู่ขณะนี้ผ่านมาตรฐานไหน ดังนั้น ถ้ามีสิทธิเลือกได้ ผู้โดยสารก็ต้องการเลือกรถที่ผ่านการทดสอบ
“มีคนถามว่าทำไมที่อังกฤษ รถ ๒ ชั้นถึงยังวิ่งได้ คือเขาวิ่งเฉพาะในเมือง อย่างทำไมภาคเหนือถึงมีอุบัติเหตุรถโดยสาร ๒ ชั้นมากกว่าภาคอื่น ก็เพราะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานตัวรถ และมาตรฐานถนน คือคนขับก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ผิดพลาดได้ แต่ความผิดพลาดนั้นไม่ควรทำให้เกิดความสูญเสีย เราไม่ควรยอมรับว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วจะมีคนตายจำนวนมากๆ ได้” นายทวีศักดิ์บอก
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้ความเห็นว่า เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ประเทศไทยต้องทำหลายส่วน เพราะอุบัติเหตุไม่ใช่เป็นเพราะบุญ แต่เป็นเพราะเราดูแลรถอย่างไร คือ หากตัดปัญหาเรื่องคนออกไป เช่น คนไม่เมา แต่หากรถไม่ดี ก็เกิดอุบัติเหตุได้
นายวสันต์ ยี่ตัน ตัวแทนจากสำนักวิศวกรรมและความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า นโยบายของกรมฯ จะอิงตามมาตรฐานของยุโรป ซึ่งทางกรมฯ ก็ต้องพัฒนาปรับปรุงเรื่อยๆ โดยมีการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถโดยสาร ซึ่งกรณีรถโดยสาร ๒ ชั้นที่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบการลาดเอียงที่ ๓๐ องศาก็จะจดทะเบียนไม่ได้
“ข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร ๒ ชั้น ตอนนี้ตามกฎฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ในปี ๒๕๖๐ รถโดยสาร ๒ ชั้นต้องสูงได้ไม่เกิน ๔ เมตร ส่วนรถชั้นเดียวสูงได้แค่ ๓.๘๐ เมตร โดยเราไม่ได้ทดสอบแค่พื้นเอียง แต่ต้องมีเรื่องเบรก ศูนย์ล้อ ค่าควันดำ ระบบความปลอดภัย โดยกรมฯ จะเป็นผู้รักษาสิทธิให้กับผู้บริโภคที่มาใช้บริการทั้งหมด” นายวสันต์กล่าว
ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า รถโดยสาร ๒ ชั้นมีในประเทศไทยมากว่า ๑๐ ปีแล้ว โดยปัจจุบันทางสมาคมฯ พยายามปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ โดยพยายามคงสถิติหรือไม่ให้มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาไม่สามารถห้ามอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องควบคุมสภาพรถ สภาพคน
“หากเทียบจากสถิติทั้งปี กับจำนวนรถทั้งหมดก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้สูง แต่จะทำอย่างไรให้อุบัติเหตุลดลงหรือเป็นศูนย์ ก็ต้องช่วยกัน โดยในอนาคตรถโดยสารเพื่อความปลอดภัยจะมี ๓ ส่วนคือ ๑.กำหนดเกณฑ์สำหรับเจ้าของรถหรือผู้ประกอบการว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง ๒.ตัวรถ และ ๓.คนขับ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้” นายก สปข.กล่าว