ผลวิจัย คอบช.เผยผลวิจัยพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้คุณภาพ

5811020011คอบช.ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ แถลง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน กรุงเทพมหานคร” พบตู้น้ำดื่นหยอดเหรียญใน กทม. มีใบอนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 8.24 ขณะที่ สคบ. ไม่สนในความร่วมมือแก้ไขปัญหา

วันนี้ (2 พ.ย. 58) คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระ นำเสนอผลการศึกษา “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพ มหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

NalumonPhoin-001

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ปัจจุบันตู้น้ำแบบหยอดเหรียญมีกระจายติดตั้งอยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชนและได้ รับความนิยมมาก เพราะมีราคาถูกเพียงลิตรละ 1-2 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีราคาลิตรละ 6-10 บาท ซึ่งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งมีทั้งตู้เก่า ตู้ใหม่ ผู้บริโภคจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ได้ดื่มน้ำที่สะอาดและปลอดภัย จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจทำให้คุณภาพน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอด เหรียญไม่เหมาะสมต่อการบริโภค เช่น สถานที่ตั้ง ความสะอาดของเครื่อง แหล่งที่มาของน้ำดิบ การเปลี่ยนไส้กรอง การล้างถังเก็บน้ำ และการตรวจสอบคุณภาพน้ำ
ในการวิจัยครั้งนี้ ได้สำรวจการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ดังนี้

1.  พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2544

2.  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2553) เรื่องให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

จากการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 18 เขต ได้แก่ เขตมีนบุรี ลาดกระบัง คันนายาว ดุสิต ราชเทวี ปทุมวัน สายไหม บางเขน ดอนเมือง คลองเตย ยานนาวา พระโขนง ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางพลัด ธนบุรี คลองสาน และราษฎร์บูรณะ รวม 855 ตู้ พบว่า

  1. มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของสำนักงานเขต 18 เขตทั้งสิ้น 1,117 ราย และมีใบอนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้น
  2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ได้แก่ บริเวณริมถนน ริมฟุตบาท ทางเดินเท้า ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการสัญจรตลอดเวลา ฝุ่นต่างๆ มาจากควันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และจากการเดินผ่าน ร้อยละ76.3 อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคร้อยละ22 ในขณะที่พบตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ52.3 มีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9
  3. การติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 (พ.ศ.2553) เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พบว่าแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำร้อยละ 6 แสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ร้อยละ 20 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรองร้อยละ 7 แสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 แสดงเบอร์ติดต่อในกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5
  4. ลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นสนิมร้อยละ 29.4 มีรูรั่วซึมร้อยละ 11.2 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตัวตู้ไม่สะอาดร้อยละ 55.2
  5. แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ มีการใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนร้อยละ 6.2 ไม่มีการระบุในแบบสำรวจว่าใช้น้ำประปาหรือน้ำบาดาล เพราะสถานที่ตั้งอยู่บนฟุตบาท หรืออยู่หน้าตึกร้าง ผู้สำรวจไม่สามารถสอบถามจากเจ้าของได้
  6. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่ามีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือนเพียงร้อยละ43.3

KobchaiPhatrakulwanich-001

ด้าน ดร.กอบชัย ภัทรกุลวณิชย์ อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. รายงาน ผลการประชุมระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้ น้ำดื่มหยอดเหรียญ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 58 โดยมีหน่วยงานที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการประชุมระดมสมองต่อการแก้ปัญหา ได้แก่ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, สำนักอาหาร สำนักคณะกรรมการอาหารและยา, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะที่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ผู้บริโภคคาดหวัง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไม่เข้าร่วมประชุม และไม่ตอบจดหมายเชิญ ทั้งๆ ที่ได้ติดตามให้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง ซึ่งผลการประชุมได้ข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.  สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

     1.1.  ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและต้อง ปฏิบัติและจัดสถานที่สำหรับประกอบกิจการนั้นให้ถูกต้องด้วย เช่น สถานที่นั้นต้องตั้งในบริเวณที่เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้

     1.2. ติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้นไม่ได้รับใบอนุญาตสามารถติดต่อเจ้าของ ตู้ได้ให้เรียกมาดำเนินการตามกฎหมาย กรณีไม่สามารถติดต่อเจ้าของตู้ได้ให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ออกที่จากพื้นที่

     1.3.  ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการตามการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน

2.  สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

     2.1.  ควรเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และเปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์น้ำดื่มให้ผู้บริโภครับทราบ

     2.2.  กรณีที่คุณภาพน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ให้ดำเนินคดีการกระทำความผิดตามมาตร 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์

3.  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

     3.1.  ติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำประเภทต่างๆที่กำหนดภายใต้พระ ราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511

     3.2. ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบบบังคับ สำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ

4. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

     4.1.  บังคับให้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2553) เรื่องให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

     4.2.  ติดตามการติดฉลากและการระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด วันเดือนปีที่ตรวจสอบหัวจ่ายน้ำ ช่องรับน้ำ ช่องรับเหรียญ และรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำ 

     4.3.  บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาใน ราชอาณาจักรเพื่อขาย ไมมีการติดฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

JirapornLimpananon-001

ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อรายงานความก้าวหน้าในการทำงานของคณะกรรมการ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ต่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

“คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค ผ่านการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ในการแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการบริโภคน้ำดื่ม ซึ่งหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ให้ความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้ บริโภคเป็นอย่างดี ยกเว้นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ สคบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการแก้ปัญหานี้” ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าว

 

 

580612 icondown
งานวิจัยศึกษาสถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ [ฉบับแถลงข่าว 2 พ.ย. 58]

พิมพ์ อีเมล