"...ดร.อานนท์คงไม่เข้าใจความ ตั้งใจทำงานขององค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ต้องอาศัยเงินบริจาคจากประชาชนหรือจากภาครัฐ หรือการระดมทุน ยังนับว่าโชคดีที่มูลนิธิฯ ไม่ต้องอาศัยเงินจากต่างประเทศไม่งั้น ดร.อานนท์คงต่อท้ายว่ารับเงินจากต่างประเทศเล่นงานรัฐบาล พวกเราจำนวนไม่น้อยเข้าข่าย ที่ควรจะต้องเรียกว่า Working for people using Parents money"
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกดร.อานนท์ ศักย์วรวิทย์ กล่าวหาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่รับเงินรับเงินสสส. หรือสปสช. แล้วออกมาปกป้องการใช้เงินผิดประเภทของ สสส. หรือสปสช.
จริง ๆ ต้องถือว่า มูลนิธิฯ ไม่มีโอกาสปกป้อง สสส.และผู้จัดการ สสส. เลย ผจก.ลาออก เพื่อให้การสอบสวนได้ทำอย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการลาออกของ ผจก. เพราะไม่เห็นที่ไปที่มาและเหตุผลของการตรวจสอบ กระบวนการสอบสวนไม่เป็นไปตามกระบวนการปกครองที่ถูกต้อง ไม่มีโอกาสให้ข้อมูล ชี้แจง หรือโต้แย้งข้อเท็จจริง กับคณะกรรมการที่ตรวจสอบเลย หากติดตามจาก FB คุณหมอกฤษดา หรือไม่สามารถปกป้องคุณหมอวินัย สวัสดิวร ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีของสปสช.
การแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้เกิดจากสำนึกพื้นฐานในฐานะมนุษย์ที่เราทำงานปกป้องสิทธิผู้บริโภค ทำไมเรายอมจำนนกันได้ขนาดนี้ที่ปล่อยให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อคนทำงาน กับความไม่ถูกต้องที่เข้ามา ทำไมยอมให้มีการกระทำที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุไม่มีโอกาสให้ข้อมูล ชี้แจง อธิบาย เราทำอะไรกันอยู่ ???
ต้องบอกคุณอานนท์ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ อีกหลายหมื่นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสสส. โดยผ่านกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่สสส.กำหนด เราไม่ได้มีสิทธิพิเศษในการได้รับเงิน และ สสส.ก็คงไม่ค่อยยินดีนักที่พวกเราเป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่โครงการที่ทำเกิดประโยชน์ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในหลายด้านที่สำคัญ
ผลงานที่ผ่านมาน่าจะพอช่วยยืนยัน เช่น มูลนิธิฯ ทำให้ กสทช.ประหยัดเงินได้มากถึง 7,000 ล้านบาท ในการแจกคูปองดิจิตอลในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล ชนะคดีศาลปกครองกลางในการขึ้นค่าผ่านทางของบริษัทดอนเมืองโทลเวย์ ทำให้รัฐน่าจะได้เงินคืนจากบริษัทไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
ที่สำคัญมูลนิธิได้สร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยให้ลุกขึ้นมาคุ้มครองตนเอง โดยแต่ละปีสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน หาก คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท รณรงค์ยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภค เรื่องอาหาร รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย มาตรฐานการคุ้มครองในด้านต่าง ๆ ฯลฯ หรือชนะคดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการแปรรูป ปตท.ที่ ปตท.ต้องคืนทรัพย์สิน ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาทในอดีต
หลักการของระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม และหลักการการดูแลสุขภาพในมิติที่กว้าง การมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืน เป็นหลักคิดสากล เป็นการทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง
หากต้องปรับเปลี่ยนกลไกการทำงาน เพื่อความโปรงใส มีประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ต้องเป็นกลไกที่มีอิสระและความคล่องตัว เพราะทุกคนเห็นการทำงานภาครัฐมาแล้วรู้จุดแข็งจุดอ่อนมามาก ระบบทางเลือกแบบ สสส. และ TPBS จึงเกิดขึ้นมา
ดร.อานนท์คงไม่เข้าใจความตั้งใจทำงานขององค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ต้องอาศัยเงินบริจาคจากประชาชนหรือจากภาครัฐ หรือการระดมทุน ยังนับว่าโชคดีที่มูลนิธิฯ ไม่ต้องอาศัยเงินจากต่างประเทศ
ไม่งั้น ดร.อานนท์คงต่อท้ายว่ารับเงินจากต่างประเทศเล่นงานรัฐบาล พวกเราจำนวนไม่น้อยเข้าข่าย ที่ควรจะต้องเรียกว่า Working for people using Parents money
มูลนิธิฯ ไม่ได้รังเกียจการตรวจสอบ แถมเราทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด การตรวจสอบเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ใช้ข้อมูล สตง.อย่างเป็นระบบและเที่ยงธรรม ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกตรวจสอบอย่างเสมอหน้า เพราะสังคมต้องการการปฏิรูประบบราชการ และปฏิรูปองค์กรอิสระต่างๆกันอย่างถ้วนหน้า
แต่ปัญหาสำคัญของการตรวจสอบบ้าน เรา หากไม่ใช่พวกเรามีความเสี่ยงที่ผิดแน่นอน แต่ถ้าเป็นพวกกันเองทุจริตก็ไม่มีปัญหา งานคอรัปชันประเทศนี้เลยไม่ไปไหน เพราะทุกคนต่างต้องหาพวกหรือเส้นสายไว้ก่อนก็จะปลอดภัย
พวกเราทำงานเปิดเผยโปร่งใส ไม่เคยรับจ๊อบโพสต์หรือให้ความเห็นในทางที่ผิด และที่สำคัญ พวกเราให้เกียรติทุกคน ไม่เคยมีพฤติกรรมด่าผู้หญิงกับเด็กพิการแบบดูถูกเหยียดหยาม เกาะกระแสหรือก่นด่าผู้อื่นเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
ดังนั้น หากเรื่องนี้ถูกตั้งธงและจ้างตัวละครเอาไว้เล่นตามบท ก็เป็นอีกครั้งที่เราต้องลุกขึ้นมา