มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย ให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้สร้างความไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบต่อผู้ซื้อประกัน
จากกรณีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” และการรักษาพยาบาลป่วยโควิด ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น
วันนี้ (10 มกราคม 2565) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อประกัน
สาเหตุเพราะ 1. สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว โดยหากบริษัทประกันเห็นว่าได้กำไรก็ขายประกัน หากเห็นว่าเริ่มขาดทุนก็จะใช้สิทธิที่ตัวเองระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งข้อตกลงดังกล่าวส่งให้ภายหลังจากผู้บริโภคตกลงซื้อประกัน โดยไม่เคยรับทราบตั้งแต่ต้น เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยเฉพาะการขายประกันโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ขณะที่บริษัทประกันโฆษณาขายประกันน้้น พบว่า การระบาดของเชื้อไวรัสน้้น มีสถิติเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่บริษัทประกันยังขายประกันดังกล่าว ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่า บริษัทประกันนั้นต้องมีการประเมินความเสี่ยงไว้แล้ว จึงยังขายประกันท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
2. การออกคำสั่งของ คปภ. ได้แก่ 1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม เพราะตามกฎหมาย คปภ. มีอำนาจในการออกคำสั่งในฐานะหน่วยงานกำกับและดูแล เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ทำประกัน และหาก คปภ. เพิกถอนคำสั่งจะสร้างผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่บริษัทประกันจะใช้กรณีนี้มาทำข้อสัญญาจำกัดความรับผิดชอบ เพื่อเอาเปรียบผู้ซื้อประกัน
3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญาหากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นข้อเสนอที่เป็นธรรมเช่นหากบริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10เท่าของเบี้ยประกันทีผู้บริโภคจ่ายไปและผู้บริโภคยอมรับข้อเสนอนั้น
อ่านเพิ่มเติม พรบ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C749/%C749-20-2540-001.pdf
ขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมลงชื่อคัดค้านการยื่นอุทธรณ์บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อนำรายชื่อไปดำเนินการแจ้งต่อ คปภ. ต่อไป โดยสามารถลงชื่อได้ตามแบบฟอร์มนี้ : https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdE5wOPFLRs4hGUPL4VwWemVQqkqLaFInGdkBb9NU1rEY6u3Q/viewform ภายในวันที่ 31 มกราคม 2565
และหากผู้บริโภคพบปัญหาบริษัทประกันภัยบอกเลิกสัญญาประกันโควิด โดยอ้างถึงการยื่นอุทธรณ์ไปถึง คปภ. แล้ว แต่แท้จริงยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือพบปัญหาเคลมค่าสินไหมประกันโควิดไม่ได้ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/